หนึ่งในแนวคิดที่เห็นในทุกวงการคือคำว่า “Go Green” คำว่า “Green” ไม่ได้หมายถึงแค่ “สีเขียว” แต่ยังหมายถึงรักษาและใส่ใจสิ่งแวดล้อม งานออกแบบที่ “Go Green” จึงหมายถึงงานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

เป็นที่ทราบกันดีกว่าอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Building industry) ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมก่อสร้างปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาคิดเป็น 39% ของการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมา ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียวเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมการบิน และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

คำถามสำคัญก็คือแล้วคนในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะ “สร้าง” อย่าง “รักษ์โลก” ได้อย่างไร แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นการทำงานที่ฉลาดขึ้นและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ที่ผ่านมา หลายประเทศได้เริ่มใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างจริงจัง เช่น ญี่ปุ่น และแคนาดา ที่ได้พัฒนามาตรฐานการก่อสร้างเพื่อให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero carbon standard) นอกจากมาตรฐานการสิ่งก่อสร้างใหม่แล้ว การดูแลรักษาและรีโนเวตสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่แล้วก็สามารถนำแนวคิด Go Green ไปใช้ได้เช่นกัน

แนวคิด Go Green จะเกิดขึ้นจริงได้ ต้องอาศัยกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่สถาปนิกและวิศวกรต้องคำนึงถึงและปฏิบัติตาม หลายคนคงคุ้นเคยกับ LEED หรือ Leadership in Energy & Environmental Design ซึ่งเป็นเกณฑ์ประเมินอาคารเขียว ผู้กำหนดเกณฑ์เหล่านี้คือสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Green Building Council (USGBC) สำหรับใช้ประเมินอาคารต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ

THE PARQ (เดอะปาร์ค)

โครงการ The PARQ (เดอะปาร์ค) เป็นหนึ่งในตัวอย่างการสร้างโครงการแบบ Mixed-use ในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนและสุขอนามัยของผู้มาใช้บริการในอาคาร จนทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED Gold เวอร์ชั่น 4 BD+C (Building Design and Construction) : Core and Shell จาก GBCI อย่างเป็นทางการ และนับเป็นโครงการ mixed-use แห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง LEED ในเวอร์ชั่นนี้ The PARQ ยึดเกณฑ์การประเมินเพื่อการรับรองมาตรฐาน LEED ทั้ง 7 ด้านในการบริหารจัดการอาคารและดำเนินงาน ได้แก่

โครงการ The PARQ (เดอะปาร์ค)

  1. ระบบขนส่งมวลชนทำให้การเดินทางเข้าและออกโครงการมีความสะดวก นอกจากนั้นยังมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ยั่งยืน
  2. ผังบริเวณถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่โล่งแจ้งและพื้นที่สีเขียว มีการปูผิวทางและหลังคาด้วยวัสดุสีอ่อนเพื่อบรรเทาความร้อน
  3. ด้านการจัดการน้ำ มีการติดตั้งสุขภัณฑ์ที่ช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 40% และมีการใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วไปรดน้ำต้นไม้ด้วยระบบหยด
  4. ส่วนหน้าของอาคารมีการใช้กระจกกันความร้อนที่สามารถลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ถึง 75% และใช้ผนังอาคารกันความร้อน ระบบควบคุมแสงเซ็นเซอร์ และระบบทำความเย็นที่ควบคุมได้อย่างง่ายดายด้วยโทรศัพท์มือถือ การลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารจึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
  5. โครงการเลือกใช้วัสดุและทรัพยากรที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลส่วนผสมรีไซเคิล ข้อมูลการปล่อยสารพิษ และผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นต้น
  6. มีการควบคุมปริมาณอากาศบริสุทธิ์ภายในอากาศให้สูงกว่าค่ามาตรฐานสากลประมาณ 30% และใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับการไหลเวียนของอากาศและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศ
  7. มีการใช้นวัตกรรมที่หลากหลาย เช่น การติดตั้งหลอดไฟอัตราไวโอเลตเพื่อฆ่าเชื้อโรค และการใช้เทคโนโลยีไร้สัมผัสเพื่อความสะดวกของผู้เข้ามาในโครงการและลดการระบาดของโรคโควิด-19

Park Ventures – The Ecoplex (ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์)

อีกหนึ่งอาคารที่ผ่านมาตรฐาน LEED ระดับสูงสุด และน่าจะคุ้นเคยกันดี คือ โครงการ ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ “Park Ventures – The Ecoplex” โครงการ 34 ชั้นที่ชูจุดเด่นเรื่องอนุรักษ์พลังงานย่านเพลินจิต มีพื้นที่รวมกว่า 5 ไร่ และมาพร้อมกับพื้นที่กว่า 81,400 ตร.ม. ภายในอาคารสามารถแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ 1) พื้นที่ร้านค้า 2) สำนักงานให้เช่าระดับพรีเมี่ยม และ 3) โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ

โครงการ ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์

จุดเด่นของอาคารที่ทำให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED คือ การมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนั้น ทำเลที่ตั้งโครงการยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ทำให้ลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล ในส่วนของการตกแต่งอาคารนั้น มีการใช้กระจก 3 ชั้น (Laminated and Insulated Glass with Low E Coating) ที่มีการเคลือบสารพิเศษที่ช่วยลดปริมาณเสียง แสงแดด และความร้อนจากภายนอกอาคาร มีการควบคุมปริมาณลมเย็นให้พอเพียงกับความร้อนในแต่ละโซนของอาคาร มีการบำบัดและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และสุดท้ายที่สุดคือมีการติดตั้งระบบควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร รวมถึงระบบปรับระดับแสงภายในอาคารให้เหมาะสมกับแสงสว่างธรรมชาติ

การใช้นวัตกรรม ระบบอาคารอัตโนมัติ (Building Automatic System) ที่เชื่อมต่อ ควบคุม และบริหารจัดการทางวิศวกรรมงานระบบต่างๆ ภายในอาคาร รวมถึงช่วยในการตรวจวัด และควบคุมการใช้พลังงาน อีกทั้งยังติดตั้ง ระบบลิฟท์อัจฉริยะ (Intelligent Lift System) ที่จะช่วยบริหารจัดการ ให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังชั้นที่ต้องการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึงร้อยละ 30 จากรูปแบบปกติ

จากตัวอย่างของทั้ง The PARQ และ Park Ventures The Ecoplex จะเห็นได้ว่ามาตรฐานแลกฎเกณฑ์การก่อสร้างอาคารเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความ Green ให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดเท่านั้น เพราะการดำเนินงานก่อนการก่อสร้าง (Pre-construction period) ที่เกี่ยวข้องกับสถาปนิกและนักออกแบบโดยตรงก็สำคัญไม่แพ้กัน

BIM ช่วยสร้างเสถียรภาพทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ได้อย่างไร

BIM หรือ Building Information Modeling ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการงานสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง แต่เทคโนโลยีนี้ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การทำงานระหว่างสถาปนิก ซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมา และลูกค้า ราบรื่นขึ้น

หนึ่งในประโยชน์หลักของ BIM คือการสร้างความยั่งยืนและเพิ่มผลิตภาพการผลิต สถาปนิก วิศวกรรม ผู้รับเหมา รวมถึงเจ้าของโครงการสามารถใช้ BIM เพื่อเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการโดยการทำ Simulation เพื่อประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Energy) ของโครงการก่อสร้าง การประเมินของเสีย (Waste) ที่เกิดจากการก่อสร้าง รวมถึงการระบุ (Identify) จุดชนกัน (Clash) เมื่อนำแบบจำลองมาผนวกรวมกัน นอกจากนั้น BIM ยังช่วยสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ เมื่อข้อมูลและเอกสารทั้งหมดของโครงการถูกรวมไว้ที่จุดเดียว ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างทั้งหมดสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการสื่อสาร ดังนั้น จึงช่วยลดความเสียหายที่กลายมาเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นของโครงการได้

ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวกับ BIM

BIM ยังมีความจำเป็นต่อผู้ประกอบการ (Manufacturer) ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง จากการสำรวจในปี 2020 โดย Harvard Business Review พบว่า 74% ของสถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา เห็นตรงกันว่าการทำงานร่วมกันกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Building product manufacturer) ส่งผลอย่างมากต่อความสำเร็จของโครงการในอีก 3 ปีข้างหน้า

ดังนั้น เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ไม่นำผลิตภัณฑ์ของตนเองเข้ามาไว้ใน BIM จึงอาจเสียโอกาสจากการทำงานที่เปลี่ยนไปของวงการก่อสร้างที่ขับเคลื่อนด้วย BIM ดังนั้น การทำให้ผลิตภัณฑ์มาเป็นส่วนหนึ่งของ BIM จึงช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง

ปัจจุบัน มีวัสดุก่อสร้างจำนวนมากที่ชูจุดเด่นเรื่องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเทรนด์สำหรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในที่กำลังมาแรง ซึ่งไม่ใช่แค่รักษ์โลกตั้งแต่กระบวนการผลิตแต่ยังช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง BIM ได้ระบุข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อให้สถาปนิกและนักออกแบบได้เลือกใช้วัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Go Green ไปกับ CPAC Green Solution

CPAC ผู้นำวงการก่อสร้างของไทยได้พัฒนา CPAC Green Solution เพื่อส่งมอบโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลด Waste ในการก่อสร้าง มีทั้งสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ Digital construction) CPAC Green Solution ต้องการตอบโจทย์ทุกคนในเชนก่อสร้างด้วยคอนเซปต์ “ล้ำ เปลี่ยน โลก”

ในช่วงก่อนการก่อสร้าง (Pre-construction) CPAC Green Solution มี Solution อยู่สองตัว ตัวแรกคือ CPAC Drone Solution ใช้โดรนบินเพื่อช่วยสำรวจพื้นที่ ตัวที่สองคือ CPAC BIM ซึ่งถือเป็นแกนกลางของ Digital Construction Solution ทุกโหนดในเชนการก่อสร้างเห็นภาพเดียวกันตั้งแต่ต้น ลดการแก้ไขระหว่างงาน ลดเวลาในการหาผลิตภัณฑ์ ขณะที่ช่วงการก่อสร้าง ก็มี Solution เช่นกัน เช่น 3D Printing และ CPAC Low-Rise Building Solution และในช่วงหลังการก่อสร้าง (After construction) ก็มีเรื่องของซ่อมบำรุง ซ่อมแซม เสริมสร้าง และต่ออายุ ดังนั้น CPAC Green Solution อยู่กับการก่อสร้างตั้งแต่ต้นจนจบ ยกระดับการก่อสร้างและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เทรนด์รักษ์โลก” จะยังอยู่กับเราไปอีกยาวนาน นั่นเพราะเป้าหมายของมันไม่ใช่แค่ช่วยให้คนรุ่นปัจจุบันใช้ชีวิตอย่างสบายขึ้น แต่ยังรวมถึงเป้าหมายในการส่งมอบโลกที่ดีขึ้นให้กับคนรุ่นหลัง เทคโนโลยีในวงการก่อสร้างอย่าง BIM ถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นเพื่อช่วยให้เราถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้เร็วขึ้น

ภาพประกอบ : www.gvreit.com และ www.theparq.com