อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า BIM ย่อมาจาก Building Information Modelling แต่ในครั้งนี้ ข้อนำเสนอ BIM ที่หนึ่งด้านที่เป็นได้มากกว่าการขึ้นโมเดล 3 มิติ (3D Model) นั่นคือ M ที่ย่อมาจาก Building Information Management ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หลักการหรือหัวใจสำคัญของการบริการจัดการโครงการ (Project Management) จะแบ่งออกเป็นหลักๆ ทั้งหมด 3 แกน ดังนี้

  • แกนที่ 1 เป็นเรื่องของเวลา (Project Time)
  • แกนที่ 2 เป็นเรื่องของคุณภาพ (Project Quality)
  • แกนที่ 3 เป็นเรื่องของต้นทุน (Project Cost)

แกนที่ 1 เป็นเรื่องของเวลา (Project Time)

หมายถึง ตารางการทำงานในโครงการที่จะระบุกิจกรรมที่จะดำเนินการทั้งหมดลงในตาราง พร้อมทั้งกำหนดช่วงเวลาวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของกิจกรรมนั้นๆ เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตของช่วงเวลาการทำงาน ซึ่งในตารางดังกล่าว ไม่เพียงแค่ระบุรายการกิจกรรมและช่วงเวลาเท่านั้น ในบางครั้งเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นจะต้องเพิ่มเติมรายละเอียดของการระบุข้อมูลเชิงลึก โดยการระบุถึงบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม รวมถึงระบุกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกัน (Dependent) และกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกัน (Independent) เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการทั้งหมด เห็นภาพรวมการทำงานเป็นภาพเดียวกัน รวมถึงรับทราบข้อมูลลำดับการดำเนินการกิจกรรมที่สำคัญของโครงการ (Critical Path) โดยเราจะเรียกตารางการทำงานดังกล่าวว่า แผนงานการบริหารการดำเนินการโครงการ (Project Timeline)

การจัดทำแผนงานการบริหารการดำเนินการโครงการ (Project Timeline) ในแต่ละโครงการ จะแบ่งรายละเอียดออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ดังนี้

  • แผนการทำงานในช่วงของการออกแบบ (Design Phase)
  • แผนการทำงานในช่วงของการก่อสร้าง (Construction Phase)

ซึ่งเมื่อเรานำเรื่อง BIM (Building Information Management) ในฝั่งของการทำ Management มาประยุกต์รวมกันกับการจัดทำแผนงานการบริหารการดำเนินการโครงการ (Project Timeline) จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้จากบทความเรื่อง BIM กับการสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการ ในตอนถัดๆ ไป

โดยสรุปแล้วข้อมูลที่ควรจะมีหรือควรระบุลงในตารางกิจกรรมการดำเนินการในโครงการ (Project Time) มีดังนี้

  • รายการกิจกรรมที่จะดำเนินการในโครงการ (Activity)
  • ช่วงเวลาของการดำเนินการในแต่ละกิจกรรม (Duration)
  • บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม (Responsible)
  • ระบุกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกัน (Dependent) และกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกัน (Independent)
  • ลำดับการดำเนินการกิจกรรมที่สำคัญของโครงการ (Critical Path)

ข้อควรระวัง เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการจัดทำตารางกิจกรรมการดำเนินการในโครงการ (Project Time) มีผลกระทบต่อการจัดทำการทำผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการ (Feasibility Study) เพราะฉะนั้นการกำหนดข้อมูลและช่วงเวลาต่างๆ ควรเป็นไปอย่างเหมาะสม

ในครั้งต่อไปจะมาพูดถึงอีก 1 แกนสำคัญในหลักการหรือหัวใจสำคัญของการบริการจัดการโครงการ (Project Management) นั่นคือแกนที่ 2 เป็นเรื่องของคุณภาพ (Project Quality)