BIMobject-house-decor-with-feng-shui-Blog-Cover33

ฮวงจุ้ยบ้าน หนึ่งในโจทย์สำคัญของการออกแบบที่นักออกแบบหลายคนต้องประสบพบเจอ เมื่อความสวยงามมาพร้อมกับความเชื่อ การประยุกต์ผสมผสานระหว่างความเชื่อและหลักการออกแบบจึงเกิดขึ้นเพื่อให้บ้านเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย ช่วยเสริมความมั่งคั่งและร่ำรวยให้กับเจ้าของบ้าน

ฮวงจุ้ยบ้านและงานออกแบบ อุปสรรคของสถาปนิก?

ดังกล่าวไปข้างต้นว่า ฮวงจุ้ยบ้านกลายเป็นสิ่งที่ผู้อยู่อาศัยให้ความสำคัญ โดยหน้าที่หลักในการดูฮวงจุ้ยคือ ซินแส ซึ่งบ่อยครั้งที่นักออกแบบต้องปรับเปลี่ยนแบบตามคำแนะนำของซินแส ทำให้เกิดปัญหาระหว่างการทำงาน

ดังนั้น เพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าว ในบทความนี้จะขอนำเสนอแนวทางการออกแบบตามศาสตร์ฮวงจุ้ย เพื่อให้สถาปนิกได้เข้าใจศาสตร์นี้เบื้องต้นและนำไปปรับใช้ทำให้การทำงานสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย 5 หลักการออกแบบบ้านตามศาสตร์ฮวงจุ้ย

5 หลักการออกแบบบ้านตามศาสตร์ฮวงจุ้ย

สำหรับการออกแบบบ้านตามศาสตร์ฮวงจุ้ยนั้น แท้จริงแล้วเป็นการนำธรรมชาติมาปรับใช้ในการออกแบบ ทั้งทิศทางลม แสงสว่าง ไปจนถึงการเลือกใช้สี โดยแต่ละองค์ประกอบจะมีอะไรบ้างสามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย

1. ฮวงจุ้ยบ้านกับทิศทางลม

ลมตามหลักของฮวงจุ้ยเปรียบเสมือนพลังงานที่ดี ดังนั้น การออกแบบบ้านที่สอดรับกับทิศทางของลม เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ทำให้เจ้าของบ้านอยู่สบายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการไหลเวียนของกระแสลมภายในบ้าน โดยการออกแบบให้สอดรับกับทิศทางสามารถทำได้ เช่น คำนวณทิศทางลมที่เข้ามาในตัวบ้าน การกำหนดตำแหน่งประตูและหน้าต่าง การเจาะช่องลม รวมถึงการออกแบบลักษณะตัวบ้านให้โปร่ง โล่งสบาย เป็นต้น

BIMobject-house-decor-with-feng-shui-01

2. แสงสว่างสร้างสรรค์ชีวิตชีวา

ในหลักฮวงจุ้ยแสงสว่างช่วยดึงดูดพลังงานดีเข้าบ้าน และไล่พลังงานไม่ดีออกไป ส่วนในเชิงสถาปัตยกรรมแสงสว่างนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนภายในบ้านไปจนถึงความรู้สึกขณะอยู่อาศัย ทำให้บ้านมีชีวิตชีวา จากการเปิดรับแสงและการตกแต่งแสงภายในบ้าน

โดยตามหลักฮวงจุ้ยบ้านที่ดีต้องมีแสงสว่างที่เพียงพอ ดังนั้น สถาปนิกควรออกแบบให้บ้านมีแสงส่องสว่างทั่วถึง ทั้งแสงหลักอย่าง General Lighting และ Localized Lighting เพื่อการใช้งานภายในบ้าน รวมถึงแสงรองอย่าง Accent Lighting เพื่อสร้างบรรยากาศภายในบ้าน ทำให้บ้านมีแสงสว่างมากเพียงพอสอดรับกับทั้งหลักฮวงจุ้ยและหลักสถาปัตยกรรม

3. สายน้ำกับความมั่งคั่ง

น้ำถือเป็นสิ่งสำคัญตามหลักของฮวงจุ้ย เพราะน้ำเป็นตัวแทนแห่งนำพาความมั่งคั่งรำ่รวย ในงานออกแบบควรออกแบบบ้านให้สัมพันธ์กับน้ำ โดยให้น้ำมีลักษณะการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น สร้างน้ำตกในสวน สร้างบ่อปลา สระว่ายน้ำหรือแม้กระทั่งใช้น้ำพุขนาดเล็ก สิ่งเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงบ้านกับน้ำให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้น้ำในการออกแบบควรคำนึงถึงตำแหน่งและทิศทางการจัดวางด้วย โดยตำแหน่งของน้ำที่ดีควรอยู่ในบริเวณทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทิศเหนือของตัวบ้าน และที่สำคัญคือ แสงสะท้อนของน้ำไม่ควรส่องเข้าตัวบ้านเพื่อลดการนำความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

BIMobject-house-decor-with-feng-shui-02

4. สีสันเสริมความมงคล

สีสันของบ้านคือองค์ประกอบที่มาพร้อมกับธาตุของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้บ้านช่วยเสริมพลังงานที่ดีให้กับเจ้าของ โดยแต่ละสีมีความหมายและความเหมาะกับแต่ละธาตุที่แตกต่างกัน เช่น

  • ธาตุไฟ เหมาะกับสีแดง สีเขียว เพื่อช่วยเสริมด้านการค้าขาย การคิดวิเคราะห์
  • ธาตุน้ำ เหมาะกับสีน้ำเงิน สีขาว เพื่อเสริมเรื่องการเจรจา การค้าขาย
  • ธาตุดิน เหมาะกับสีน้ำตาล สีเทา เพื่อเรื่องการเรียกทรัพย์ หรือการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ในการออกแบบบ้าน สถาปนิกสามารถจัดวางสีสันได้ผ่านการตกแต่งบ้าน ทั้งการเลือกใช้เฟอนิเจอร์หรือการปรับ Texture ในการตกแต่งผนังเพื่อผสมผสานกับการใช้สีสันของบ้าน

ยกตัวอย่าง เจ้าของบ้านเป็นธาตุดิน สามารถตกแต่งโดยใช้ไม้สีอ่อนผสมกับปูน เพื่อนำสีน้ำตาลของไม้และสีเทาของปูนมาเรียกทรัพย์ อีกทั้งยังเพิ่มความเรียบง่ายที่แฝงด้วยความหนักแน่นผ่าน Texture ของปูนและไม้ เป็นต้น

BIMobject-house-decor-with-feng-shui-03

5. ต้นไม้ช่วยนำพาความเจริญงอกงาม

ต้นไม้ตามหลักฮวงจุ้ยเป็นสิ่งที่ช่วยนำพาความเจริญงอกงามมาให้เจ้าของบ้าน เสริมความก้าวหน้าให้กับชีวิต เงินทองเพิ่มขึ้นเหมือนต้นไม้ที่เติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งต้นไม้แต่ละพันธุ์จะมีความหมายเฉพาะตัวที่เสริมความมงคลให้กับผู้อยู่อาศัย เช่น

  • ไผ่กวนอิม ช่วยนำโชคลาภมาให้ผู้ปลูก
  • เฟิร์นข้าหลวง ช่วยส่งเสริมด้านชื่อเสียงและบารมี
  • คลาสซูล่า ช่วยนำความโชคดีและความสำเร็จ

นอกจากเรื่องฮวงจุ้ยแล้ว การปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านยังช่วยให้บรรยากาศร่มเย็น บดบังแสงอาทิตย์ ลดอุณหภูมิจากภายนอกที่เข้ามายังตัวบ้าน หรือการนำต้นไม้มาตกแต่งในบ้านสามารถช่วยฟอกอากาศหรือเป็นจุดพักสายตาสำหรับคนในบ้านได้เช่นกัน

ในด้านการออกแบบสามารถนำไอเดียเรื่องต้นไม้มาต่อยอดให้เกิดความสวยงามได้ เช่น การสร้าง Courtyard ภายในตัวอาคาร เพื่อให้ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ หรือเป็นจุดพักสายตาสำหรับบ้านที่ไม่มีพื้นที่มากพอในการปลูกต้นไม้ เป็นต้น

สรุป

จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วการนำฮวงจุ้ยมาปรบับใช้ในการออกแบบ ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ประยุกต์แนวคิดการออกแบบพื้นฐาน เช่น การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไปจนถึงการออกแบบคาเรกเตอร์แสง เป็นต้น และหากคุณเป็นนักออกแบบที่กำลังสนใจข้อมูล ความรู้ด้านการออกแบบสามารถติดตามบทความดีๆ ได้ที่ BIMSpaces หรือใครที่กำลังมองหาตัวช่วยในการออกแบบ อย่างโมเดล 3D ก็สามารถค้นหาโมเดลคุณภาพ อัปเดทตลอดได้ที่ BIMobject