ในวันที่เทรนด์สถาปัตยกรรมก้าวล้ำไปไกล แวดวงการก่อสร้างก็พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆมาตอบโจทย์ให้จินตนาการของสถาปนิกกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างได้จริง และ เทคโนโลยี 3D Printing คือหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ปฏิวัติวงการก่อสร้างฉีกกฎการก่อสร้างเดิมๆ ก้าวข้ามข้อจำกัดของเสาและคาน สู่สิ่งปลูกสร้างแบบอิสระ (Freeform) ได้ในราคาที่จับต้องได้

เทคโนโลยี 3D Printing จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม หากคุณต้องการงานออกแบบเช่นนี้

  • งานสถาปัตยกรรมที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นแปลกตา ด้วยรูปทรงอิสระ (Freeform)
  • สร้างลูกเล่นบนผิวผนัง เช่น ลวดลาย หรือมิติ
  • พื้นผิวเลเยอร์บนอาคาร ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการขึ้นรูปด้วยวิธีนี้ (แต่ฉาบตกแต่งทับได้หากต้องการผิวเรียบ)
  • ก่อสร้างจากวัตถุดิบหลากหลาย เช่น คอนกรีต ดินเหนียว ดินโคลนหรือ สารประกอบจากเยื่อไผ่ เป็นต้น

Tecla บ้านที่สร้างจากดินเหนียว และขึ้นรูปด้วย 3D Printing ในประเทศอิตาลี

มีรูปทรงอิสระ ผนังเป็นเลเยอร์ พร้อมลูกเล่นเป็นมิติ

(ภาพประกอบ : Dezeen)

ในปัจจุบัน การก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี 3D Printing ได้ถูกนำไปใช้ก่อสร้างสำเร็จแล้วจริงในหลายมุมโลก บทความนี้เราชวนส่องสถาปัตยกรรมดีไซด์เก๋ เพื่อเป็นไอเดียออกแบบอาคารในแบบของคุณ

House Zero ความลงตัวของเทคโนโลยีผสานงานฝีมือ

ผิวผนังเลเยอร์โค้งมนซ้อนทับหลายชั้นอันเป็นเอกลักษณ์ของการก่อสร้างด้วย เทคโนโลยี 3D Printing สะท้อนเทคโนโลยีแห่งอนาคต เคียงคู่ด้วยแผ่นไม้ธรรมชาติ ตัวแทนความอบอุ่นในแบบที่บ้านพักอาศัยพึงมี ผลผลิตจากงานฝีมือและเทคโนโลยีที่ผสมผสานอย่างลงตัวบน House Zero นี่คือบ้านหลังแรกในโครงการ Exploration Series โดย ICON ผู้พัฒนาเทคโนโลยี 3D Printing จากสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดย Lake|Flato Architects เพื่อค้นหาจุดเด่นของการผสานเทคนิคการก่อสร้าง เปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ในการออกแบบที่พักอาศัย และดึงเอาคุณสมบัติเด่นของการก่อสร้างด้วย 3D Printing มาต่อยอดกับวัสดุอื่น อาทิ ไม้ เพื่อสร้างงานออกแบบที่เหนือกาลเวลา

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในบ้านยังถูกออกแบบให้ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ เพื่อรองรับการใช้สอยหลายวัตถุประสงค์ในการอยู่อาศัยอีกด้วย

ภายนอกและภายใน House Zero ความลงตัวของเทคโนโลยีและงานฝีมือ

(ภาพประกอบจาก Casey Dunn)

Micro Home ไม่ต้องโค้งมนก็สร้างด้วยเทคโนโลยี 3D Printing ได้

เมื่อเอ่ยถึงงาน 3D Printing รูปลักษณ์ที่คุ้นชินคือเส้นสายโค้งมนรูปทรงอิสระ แต่อย่าให้ภาพจำนั้นจำกัดจินตนาการของคุณหากต้องการผลิตงานด้วยกรรมวิธีนี้ เพราะทรงเหลี่ยมมุมพร้อมพื้นผิวนูนต่ำ เช่นอาคารขนาด 8 ตารางเมตรในกรุงอัมสเตอร์ดัม โดย DUS Architects นี้สามารถขึ้นรูปสามมิติได้เช่นกัน และด้วยไมโครพลาสติกที่ใช้เป็นวัตถุดิบขึ้นรูป จึงนำมาขึ้นรูปได้ใหม่เมื่อไม่ใช้งานอาคารแล้วอีกด้วย

อาคารที่สร้างโดยเทคโนโลยี 3D Printing ไม่จำเป็นต้องมีผนังโค้งเสมอไป

เช่น อาคารขนาด 8 ตารางเมตรหลังนี้ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม 

(ภาพประกอบ : Ossip)

ผนังผิวนูนต่ำทรงเหลี่ยม จากการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Printing

(ภาพประกอบ : DUS Architects)

Gaia ขยะเหลือทิ้งจากการเกษตร มิติใหม่ของการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เศษดินโคลน ฟาง และเปลือกข้าว คือขยะจากกระบวนการผลิตข้าว และยังเป็นวัตถุดิบในการสร้างบ้านขนาด 30 เมตร ในประเทศอิตาลี ผนังดินเหนียวที่ถูกฉีดออกมาจากหัวปริ๊นถูกออกแบบให้มีช่องว่างในแนวตั้ง ภายในบรรจุเศษฟางและเปลือกข้าวเพื่อเป็นฉนวนเก็บความร้อนแทนการใช้ฮีทเตอร์ เปลือกข้าวยังถูกนำมาผลิตปูนปลาสเตอร์ชีวภาพ (Bio-plaster) เพื่อใช้ฉาบปิดผิวเรียบภายในอาคาร กระบวนการขึ้นรูปสามมิตินี้ใช้เวลาเพียง 10 วัน ด้วยต้นทุนวัตถุดิบราคาถูก และในวันที่สิ่งปลูกสร้างนี้ไม่เป็นที่ต้องการ ทุกอย่างสามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติได้

Gaia คือโครงการจาก Italian 3D-printing technology developer WASP บริษัทพัฒนาเทคโนโลยี 3D Printing สัญชาติอิตาลี ที่มีความเชื่อว่าขยะจากการเกษตรจะกลายเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ยั่งยืน

อาคารขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Printing โดยใช้วัตถุดิบเศษขยะจากการเกษตร

(ภาพประกอบ : Dezeen)

การฉีดดินจากหัวปริ๊น เพื่อขึ้นรูปอาคาร

(ภาพประกอบ : Dezeen)

Habitat for Humanity ในวันที่ราคาไม่ใช่ปัญหาของคนฝันอยากมีบ้าน

การก่อสร้างด้วยวิธีก่ออิฐฉาบปูนอาจมีต้นทุนที่สูง แต่เทคโนโลยี 3D Printing ทำให้ระยะเวลาก่อสร้างและความผิดพลาดลดลง ต้นทุนจึงลดลงตาม ทำให้ Habitat for Humanity องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อสานฝันให้คนมีบ้านเป็นของตัวเองเล็งเห็นคุณสมบัตินี้ จึงเลือกใช้เทคโนโลยี 3D Printing เป็นหนึ่งในวิธีก่อสร้างบ้านพักอาศัยราคาย่อมเยาว์ เมื่อต้นทุนต่ำลงก็สร้างบ้านหลายหลังได้มากขึ้น ผู้คนก็มีโอกาสเป็นเจ้าของได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่เทคโนโลยี 3D Printing มาเป็นตัวเลือกของโครงการ

และเห็นได้ว่า รูปแบบอาคารธรรมดาทั่วไป ก็สามารถก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีการขึ้นรูปอาคารสามมิติได้เช่นกัน 

บ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำจากเทคโนโลยี 3D Printing ในโครงการของ Habitat for Humanity

ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ใช้เวลาขึ้นรูปเพียง 12 ชั่วโมง

(ภาพประกอบ : Habitat for Humanity)

Cafe Amazon มุมถ่ายรูปที่มาพร้อมฟังก์ชั่น

หลายคนคงชินกับภาพ Cafe Amazon ที่ตั้งอยู่ใน PTT Staion แต่ร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมันสาขาพุทธมณฑลสาย 3 นั้นแตกต่างออกไป มองภายนอกคือร้านกระจกโอบล้อมด้วยแมกไม้สีเขียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบภายใต้แนวคิด ‘Green Station’ ของสถานี และเมื่อก้าวเข้ามาภายใน จะพบกับบันไดเวียนล้อมปล่องขนาดใหญ่สีเทา ทำหน้าที่เป็นช่องแสงที่แต่งประดับด้วยพรรณไม้ เชื่อมโยงพื้นที่จากชั้นล่างสู่ชั้นบน ภายในสู่ภายนอก ผู้คนสู่ธรรมชาติ ด้านหน้ามีประติมากรรมนูนต่ำเป็นโลโก้และรูปนกแก้วที่คุ้นเคย ซึ่งไม่ได้เกิดจากการปั้นแต่งแต่อย่างใด แต่เป็นส่วนหนึ่งจากฉีดขึ้นรูปปล่องสีเทานี้ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing โดย CPAC Green Solution เพื่อสร้างจุดสนใจได้มุมถ่ายรูปในอาคารที่มากับฟังก์ชั่นการใช้งานจริง พร้อมใส่อัตลักษณ์ของแบรนด์ลงไปได้ในการขึ้นรูปครั้งเดียว นอกจากนี้ เทคโนโลยีขึ้นรูปสามมิตินี้ยังรักษ์โลก ตอบโจทย์ Green Station อีกด้วย

Cafe Amazon สาขา PTT Station พุทธมณฑลสาย 3 ออกแบบด้วยแนวคิด Green Station

ประติมากรรมนูนต่ำรูปโลโก้และนกแก้วที่คุ้นเคย เป็นส่วนหนึ่งของการขึ้นรูปชิ้นงาน

ปล่องสีเทา มุมถ่ายรูปที่มาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งาน จากการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Printing

นอกจากรูปลักษณ์โดดเด่นแปลกตาที่ได้จากเทคโนโลยี 3D Printing ยังมีคุณสมบัติเด่นอีกหลายประการทำให้การขึ้นรูปสามมิตินี้ กำลังกลายเป็นกรรมวิธีก่อสร้างแห่งอนาคต เช่น

  • ตอบโจทย์ทุกดีไซด์ ไม่ว่ารูปแบบหวือหวา ซับซ้อน หรืองานธรรมดา
  • เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Printing หัวปริ๊นจะฉีดซีเมนต์เพียงเท่าที่จำเป็น จึงไม่มีขยะเหลือทิ้งการกระบวนการก่อสร้าง และมีช่องว่างในผนัง (Air Pocket) ทำให้ใช้วัตถุดิบในการขึ้นรูปน้อยกว่าการก่อสร้างที่มีผนังตัน
  • ประหยัดเวลาในการก่อสร้างได้ถึง 60% เมื่อเทียบกับการก่ออิฐเทปูน เพราะเทคโนโลยี 3D Printing ขึ้นรูปด้วยเครื่องปริ๊นที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ก่อสร้างได้รวดเร็ว แม่นยำ และลดความผิดพลาดจากแรงงานคน
  • ประหยัดต้นทุน ทั้งจากปริมาณวัตถุดิบที่ควบคุมได้ ระยะเวลาการก่อสร้างและความผิดพลาดที่ลดลง 
  • คุณภาพสูง ความแข็งแรง ทนทาน
  • ลดความร้อน กันเสียง กันไฟได้ดี เนื่องจากช่องว่างในผนัง ซึ่งเกิดจากกระบวนการฉีดขึ้นรูป
  • ใช้วัตถุดิบได้ยืดหยุ่นหลากหลาย

อาคารที่ขึ้นรูปด้วย CPAC 3D Printing Solution

ที่ CPAC Green Solution เราได้พัฒนานวัตกรรม CPAC 3D Printing Solution เพื่อรองรับความต้องการของสถาปนิกที่อยากปลดปล่อยจินตนาการในงานออกแบบ Freeform ด้วยเส้นสายความโค้งอย่างเป็นอิสระ หรือ Parametric Design ที่มีจุดเด่นตรงที่รูปฟอร์มอันเป็นเอกลักษณ์ ชิ้นงาน หรืออาคารที่ได้มีรูปแบบทันสมัย ไม่ซ้ำใคร ก่อสร้างได้รวดเร็ว ลดการใช้แรงงานลง 50% โดยการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย ทำให้เจ้าของโครงการได้งานคุณภาพในราคาจับต้องได้ ทำความรู้จัก CPAC 3D Printing Solution เพิ่มเติม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ Inbox คลิก! m.me/cpacthailand หรือติดต่อ CPAC Contact Center โทร. 02-555-5555