สงสัยกันใช่มั้ยล่ะครับว่า ไม้อัด OSB ที่ว่า มันคืออะไรกันแน่นะ? จริงๆแล้วชื่อแปลกประหลาด ไม่คุ้นหูนี้ ย่อมาจาก Oriented Strand Board หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “ไม้อัดเกล็ดเรียงชิ้น” นั่นเอง เป็นไม้อัดชนิดหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นวัสดุออกแบบตกแต่งภายในยังไงล่ะครับ วันนี้ไปทำความรู้จักกับไม้อัด OSB ไปพร้อมๆกันเลยครับ

ไม้อัด OSB คืออะไร

ไม้อัด OSB (Oriented Strand Board) เป็นประเภทของไม้แปรรูป หรือไม้อัดที่มีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องความแข็งแรงทนทานที่มากกว่าไม้อัดธรรมดาทั่วไปถึง 3  เท่า ที่เกิดจากขั้นตอนการผลิตที่เป็นการนำชิ้นไม้เล็กๆ (Strand) รูปทรงแบน บาง และ ยาว ไปผสมกาว นำมาเรียงชิ้นให้เสี้ยนไม้หันไปในทิศทางเดียวกัน มีการเรียงกันอย่างน้อย 3 ชั้น แต่ละชั้นมีการสลับทิศทางของเสี้ยนไม้ขวางตั้งฉากกัน เพื่อความแข็งแรงทนทาน และจึงนำไปอัดด้วยความร้อนและแรงดันสูงเพื่อให้ได้แผ่นที่มีขนาดกว้างและยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ  ไม้อัดOSBยังมีความสามารถในการทนน้ำและความชื้นได้ดี ไม่เกิดการบวม โค้งงอ แตก และบิดเบี้ยวง่ายเหมือนกับไม้อัดประเภทอื่น ทนทานต่อเชื้อรา ปลวกและแมลงทุกชนิด แถมยังทนทานต่อการติดไฟได้เป็นอย่างดี มีความสวยงามดูเป็นธรรมชาติ เหมาะทั้งสำหรับงานงานโครงสร้างภายนอก โครงสร้างภายใน และงานตกแต่งภายใน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่างๆได้ ถ้านึกไม่ออกว่าสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้างผมก็จะขอบอกเลยว่าสามารถนำไปใช้ได้กับหลายองค์ประกอบในอาคาร แทบจะทุกอย่างที่นึกออก ทั้ง ผนัง (Panel Wall) พื้น (Sub-Floor) ฝ้า (Ceiling) ปูใต้หลังคา (Sub-Roof) ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ ส่วนประกอบของบันได หรือกระทั่งขอบคิ้วไม้ และอื่นๆ นอกจากนั้นก็ยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ใช้เป็นผนังด้านในรถไฟ รถบรรทุก และรถตู้ขนส่ง ได้อีกด้วย ส่วนการติดตั้งก็แสนง่ายดายเพราะมีน้ำหนักเบา ใช้ร่วมกับโครงสร้างเหล็ก อะลูมิเนียม หรือโครงเหล็กเคลือบสีได้อย่างลงตัวครับ

ประเภทของไม้อัด OSB

ปัจจุบันไม้อัด OSB มีให้เลือกหลากหลายชนิดเลยครับ แบ่งเกรดอ้างอิงตามมาตรฐานยุโรป EN300 ตามคุณภาพ และวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ทั้งสภาพการใช้งาน ภายใน ภายนอก และคุณสมบัติการต้านทานความชื้น การรับน้ำหนัก Load-Bearing) หลักๆก็จะแบ่งได้เป็น 4 ชนิด ตามตัวเลขดังต่อไปนี้ครับ

  1. ไม้อัด OSB 1 ใช้สำหรับงานตกแต่งภายในทั่วไป ในสภาพแห้ง
  2. ไม้อัด OSB 2 ใช้กับงานที่ต้องมีการรับน้ำหนัก ในสภาพแห้ง
  3. ไม้อัด OSB 3 ใช้กับงานที่ต้องมีการรับน้ำหนัก ในสภาพทีมีความชื้น
  4. ไม้อัด OSB 4 ใช้กับงานที่ต้องการความทนทานสูง รองรับน้ำหนักมาก ในสภาพความชื้นสูง

ส่วนในเรื่องการป้องกันเชื้อรา ป้องกันปลวก หรือความหน่วงการติดไฟ โดยส่วนใหญ่จะเป็นคุณสมบัติที่นิยมใช้เป็นคุณสมบัติเพิ่มเติม (Optional) เพื่อเป็นจุดขายเพิ่มเติมในทางการตลาด โดยทั่วไปผู้ผลิตจะทำสัญลักษณ์ หรือแถบสีเอาไว้ที่ด้านข้างของแผ่นไม้ เพื่อบอกชนิดของไม้นั้นๆ เช่น สีเขียวเป็นชนิดธรรมดา สีแดงเข้มสำหรับใช้งานภายนอก เป็นต้น

การนำไม้อัด OSB ไปใช้ในการออกแบบ

พูดไปก็คงนึกกันไม่ออกใช่มั้ยล่ะครับ ว่าในการใช้งานจริง สถาปนิกและช่างเลือกไม้อัด OSB ไปทำอะไร ยังไงบ้าง และถ้านำมาใช้ตกแต่งบ้านจะออกมาเป็นยังไง สวยแค่ไหน วันนี้ผมเลยหยิบหลายๆโปรเจคที่เห็นว่ามีการเลือกไม้อัด OSB เข้าไปเป็นองค์ประกอบของพื้นที่ ทั้งในส่วนของโครงสร้างภายนอก กรุภายในอาคาร หรือองค์ประกอบตกแต่งอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่ผลลัพธ์ออกมาน่าสนใจไม่น้อยมาให้เพื่อนๆชมกันครับ

ไม้อัด OSB ถูกนิยมนำมาใช้เป็นโครงสร้างผนังภายนอก หรือเปลือกอาคาร (Panel Wall) อย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากจะได้ความแปลกใหม่และเป็นเอกลักษณ์ ไม่จำเจแล้ว เรายังสามารถนำไม้อัด OSB มาประกบกับ EPS FOAM ทำให้ได้ผนังที่มีฉนวนกันความร้อนให้กับอาคารได้ เหมือนกับบ้านสองหลังนี้ นำเสนอตวามเท่ สไตล์ Industrial ผ่านไม้อัด OSB อีกทั้งยังได้ประโยชน์ในเรื่องของการระบายความร้อนอีกด้วย

Padaria Portuguesa Office

หรือจะนำมากรุผนังภายในอาคารก็ยังให้อารมณ์ที่แตกต่างออกไป ช่วยนำเสนอ Space ภายในให้น่าสนใจยิ่งขึ้น อย่างโปรเจค Padaria Portuguesa Office ที่ออกแบบโดย João Tiago Aguiar Arquitectos ออฟฟิศแห่งหนึ่งที่เมือง Lisbon ประเทศโปรตุเกส มีการนำไม้อัด OSB มาใช้ต่อเนื่องตั้งแต่พื้นผนังไปจนถึงฝ้า ที่ออกมาไม่ได้ดูเลี่ยนเกินไปแต่อย่างใด แต่มองว่ามีความลงตัว เข้ากันได้ดี เมื่อสีของไม้อัด OSB ตัดกับเพดานเปลือยสีดำ และเฟอร์นิเจอร์สีขาว

โปรเจคนี้สถาปนิกเลือกใช้ไม้อัด OSB เพราะมองว่า วัสดุนี้เป็นวัสดุที่มีพื้นผิวหลายชั้น และมีรูพรุนที่พื้นผิว ทำให้การส่องสว่างและตกกระทบของแสงภายในพื้นที่ปิดดีมากยิ่งขึ้น โดยสถาปนิกก็ไม่ได้นำไม้อัด OSB มาใช้ทั้งหมด แต่มีการเล่นชั้นเชิงกับวัสดุที่สลับกันไปในแต่ละโซน ทำให้บรรยากาศภายในออฟฟิศมีชีวิตชีวา ไม่น่าเบื่อ

Stealth Barn

โปรเจคถัดไปคือ Stealth Barn ออกแบบโดย Carl Turner Architects ที่เมือง Norfolk ประเทศอังกฤษ ที่ถูกเปลี่ยนจากยุ้งฉางเดิม รีโนเวทให้กลายเป็นบ้านพักอาศัยและสตูดิโอ โดยสถาปนิกเลือกกรุไม้อัด OSB ในพื้นที่ภายใน เพื่อชวนรำลึกถึงยุ้งฉางเดิม และบริเวณโดยรอบ ที่มีกองฟางเติมเต็มอยู่ทั่วพื้นที่ และพื้นผิวที่ขรุขระ และสีโทนน้ำตาล ยังช่วยให้รู้สึกอบอุ่นภายในบ้าน ผมคิดว่าเป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่นำไม้อัด OSB มาใช้ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัดกับไม้สีดำให้ลุคเหมือนโรงนา หรือยุ้งฉาง ที่กรุอยู่ภายนอก

อพาร์ตเมนท์ใน Paris โดย  Florent Chagny Architecture

อพาร์ตเมนท์ใน Paris ประเทศฝรั่งเศส ออกแบบโดย  Florent Chagny Architecture ที่มีแนวคิดในการนำวัสดุอุตสาหกรรม แบบดิบๆ เข้ามาตกแต่งพื้นที่ภายใน ตัดกับความป๊อปและโมเดิร์นของสีสันในองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งมองว่าทำออกมาได้ลงตัวทีเดียว ได้ตัวไม้อัด OSB มาช่วยเบรกไม่ให้โมเดิร์นจนเกินไป ลดความเกร็งในการใช้งาน ไม่ได้ดูประณีตไปซะทั้งหมด อีกทั้งยังได้โทนสีน้ำตาลอบอุ่นเข้ามาเพิ่มความน่าอยู่ให้กับบ้าน จะว่าไปใครจะไปรู้ว่าไม้อัด OSB ก็เข้ากับสีฟ้าของผนัง และสีเหลืองของเก้าอี้ ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะครับ

ปิดท้ายด้วยประโยชน์ที่แม้จะไม่ได้โชว์พื้นผิวและหน้าตาออกมาให้เห็น แต่ทำหน้าที่เป็นตัวซัพพอร์ตองค์ประกอบอื่นๆ  นั่นก็คือการนำไปรองพื้น (Sub-Floor) โดยไม้อัด OSB จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสำคัญ ทั้งปรับพื้นให้เรียบ และป้องกันความชื้นจากพื้นชั้นล่าง ก่อนจะปูพื้นไม้ลงไปอีกชั้น ซึ่งจะออกมาเรียบสวยงามกว่าการปูลงไปชั้นเดียว ทั้งยังทำให้พื้นไม้ชั้นบนทนทานมากขึ้นอีกด้วย

สรุปเกี่ยวกับไม้อัด OSB

นอกจากราคาที่แสนถูกแล้ว ไม้อัด OSB ก็สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายลักษณะเลยใช่มั้ยล่ะครับ จะนำไปออกแบบ หรือประดับตกแต่งบ้านก็สวยงามไม่แพ้ไม้อัดชนิดอื่นๆเลยทีเดียว ถ้าใครสนใจใช้ไม้อัด OSB ผมขอแนะนำไม้คุณภาพจาก วนชัย กรุ๊ป ที่แตกไลน์ธุรกิจสู่บริษัท วนชัย วู้ดสมิธ จำกัด เกิดเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าวู้ดสมิตร น้องใหม่ของ วนชัย กรุ๊ป ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 76 ปี ในอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติ ที่เป็นทั้ง “ศูนย์เรียนรู้ด้านไม้และไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติ” “เป็นสโตร์” และ “เป็นศูนย์กระจายสินค้า” ของวนชัย

“วู้ดสมิตร” จะมีสาขาในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย โดยจะมีทั้งแบบร้าน Standalone และร้านที่ร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้ผู้บริโภคได้เรียนรู้แล สัมผัสสินค้าไม้สำเร็จรูปทดแทนธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ก่อนตัดสินใจซื้อ ภายใต้แนวคิด วู้ดสมิตร “มิตรงานไม้” ที่เป็นมิตรกับลูกค้า และให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้สามารถใช้ไม้ยางพาราได้ทั้งสวนทั้งต้น ตอบสนองไลฟ์สไตล์ใหม่ๆได้ในราคาที่เหมาะสม

ขอบคุณข้อมูลและภาพสถานที่สวยๆจาก Archdaily, Dezeen, Innovative Building Materials, Amerhart และ Apawood

ดาวน์โหลด BIM Object ของวู้ดสมิตรได้ที่นี่