เสาร์สุดท้ายของเดือนเมษายนที่ตามปกติแล้วจะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของไทย แต่อยู่ดีๆ ฝนก็เทกระหน่ำมาแบบไม่ลืมหูลืมตา ขณะที่กำลังจะล้มตัวลงนอน ก็นึกขึ้นได้ว่ามี “คาเฟ่” ที่แม้เราจะรู้จักชื่อกันเป็นอย่างดี แต่เร็ว ๆ นี้ ได้ผนวกคอนเซปต์ “รักษ์โลก” อย่างน่าสนใจด้วยการตกแต่งร้านด้วยวัสดุที่ทำมาจากเทคโนโลยี 3D Printing

ผมกำลังพูดถึง “Cafe Amazon” ที่ตั้งอยู่ใน PTT Station สาขาพุทธมณฑลสาย 3 ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันครบวงจรที่ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด “Green Station” ที่เกิดมาจากความร่วมมือของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่นำเอาเทคโนโลยีการก่อสร้าง (Digital and Construction Technology) มาผนวกกับการทำงานรูปแบบ Modular Construction ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบจนถึงการสร้างจริง ซึ่งถือเป็นความพยายามในการยกระดับวงการก่อสร้างไทยให้ก้าวไปข้างหน้าโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ตั้งแต่เลี้ยวเข้ามาใน PTT Station แห่งนี้ เชื่อว่าใคร ๆ ก็ต้องสะดุดตากับการออกแบบโซนจ่ายน้ำมัน ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลาง รายล้อมด้วยแท่นจ่ายน้ำมันชนิดต่าง ๆ เห็นเพียงเท่านี้ก็รู้ทันทีว่าสถานีบริการน้ำมันแห่งนี้ให้ความสำคัญกับแนวคิด Green Construction ไม่มากก็น้อย

ถัดมาจากโซนน้ำมัน ก็จะเป็นโซนร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงเป้าหมายของเราในวันนี้ ซึ่งก็คือ “Cafe Amazon” ที่ดูแปลกตา ไม่เหมือน Cafe Amazon ที่เราเห็นในสถานีบริการน้ำมันอื่น ๆ Cafe Amazon แห่งนี้ เป็นอาคารทรงกลม 2 ชั้น ตกแต่งด้วยกระจกใส สบายดู รอบ ๆ มีต้นไม้ ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และกลิ่นหอมของกาแฟก็เชิญชวนให้เราเข้าไปในอาคารได้ไม่ยากนัก

Go Green ไปกับ Cafe Amazon

ทันทีที่เดินเข้าไปตัวอาคารก็ต้องสะดุดตากับ “ปล่องขนาดใหญ่สีเทา” ที่ขนาบข้างด้วยบันไดสำหรับขึ้นชั้นสอง นอกจากนั้น ยังมีโลโก้ Cafe Amazon พร้อมพี่นกแก้วลวดลายที่สวยงามแปลกตา ถือว่าเป็น highlight ของตัวอาคารนี้เลยก็ว่าได้ ปล่องขนาดใหญ่สีเทานี้ หากดูเร็ว ๆ ก็อาจจะเหมือนวัสดุตกแต่งร้านคาเฟ่ทั่ว ๆ ไป แต่แท้จริงแล้ว วัสดุนี้ทำขึ้นมาจาก 3D Printing ซึ่งข้อดีแรกของมันคือเป็นทั้งช่องเปิดรับแสงจากภายนอกเข้ามา และจุดถ่ายรูปสร้างคอนเทนต์ ที่มีต้นไม้ห้อยมาจากมุมสูง ลดหลั่นกัน อีกทั้งยังมีไม้เลื้อยรอบๆ เดินเข้าไปแล้วเหมือนมาเที่ยวสวนพฤกษศาสตร์ สวยงามเหมาะแก่การแชะรูปอวดเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดีย

นอกจากปล่องขนาดใหญ่สีเทา Free Form ที่โดดเด่นนี้แล้ว ผนังอาคารและชิ้นส่วนของอาคารยังถูกสร้างด้วยเทคโนโลยี 3D Concrete Printing ทั้งหมดนี้ คือผลลัพธ์ของ “CPAC 3D Printing Solution” นวัตกรรมการก่อสร้างอาคารแห่งอนาคต ที่ไม่ได้มีเฉพาะงานคอนกรีต แต่ยังรวมถึงงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ของแตกแต่งบ้าน ที่สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ออกแบบและสถาปนิกได้อย่างเต็มที่

แต่ 3D Printing นี้ ไม่ได้แค่ขายความเท่อย่างเดียว เพราะมันคือเทคโนโลยีขึ้นรูปโครงสร้างแบบสามมิติที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในวงการก่อสร้างและออกแบบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อดีของโครงสร้างที่ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์สามมิตินั้น นอกจากจะช่วยให้นักออกแบบสามารถออกจากกรอบเดิม ๆ ของการออกแบบและการใช้พื้นที่แล้วนั้น การก่อสร้างแบบดิจิทัลนี้สามารถคำนวณการใช้งานวัสดุคอนกรีตได้อย่างแม่นยำ ลดขยะเหลือใช้ซึ่งเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่โดนตัดจากงานก่อสร้าง จึงช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง เรียกได้ว่าเป็นการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับการก่อสร้างด้วยงานคอนกรีตแบบเดิม ๆ

เมื่อเดินขึ้นบันไดเวียนรอบปล่องไปสู่ชั้นสอง ถัดไปจากทางเดินมีโต๊ะนั่งเรียงรายอยู่รอบๆ ปล่อง กรุกระจกรับแสงธรรมชาติสาดเข้ามาบนโต๊ะเก้าอี้โทนสีไม้ ทำให้พื้นที่ข้างในดูสะอาดตา ประกอบกับฝนตกปรอยๆ มองผ่านกระจกออกไปเห็นต้นไม้สีเขียวๆ ช่างชุ่มชื่นใจ เหมือนไม่ได้นั่งอยู่ในปั๊มน้ำมันเลยทีเดียว อิจฉาคนที่บ้านใกล้ที่จะได้มานั่งจิบกาแฟ ทำงานไปพลางๆ ได้ทั้งวันไม่เบื่อ หากจะกลับก็สามารถเดินออกไปสู่ภายนอกทางลาดรอบข้างอาคารได้เลย ให้ความสะดวกแก่ผู้พิการ และผู้สูงอายุอีกด้วย เห็นได้ชัดว่า ผู้ออกแบบไม่เพียงผนวกแนวคิด Green Construction แต่ยังเพิ่มเรื่อง Inclusive design เข้ามาด้วย ก่อนกลับยังแอบเห็นห้องน้ำที่กลืนไปกับพืชพรรณนานาชนิด สะอาดน่าใช้บริการ ไม่เหมือนกับห้องน้ำปั๊มที่เราเคยรู้จัก…

Cafe Amazon แห่งนี้ ได้เติมเต็มสุดสัปดาห์ของผมอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะไม่เพียงได้รับความพึงพอใจจาก Cafe Hopping แล้ว ยังได้แรงบันดาลใจจากการออกแบบและการก่อสร้างที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ Cafe Amazon เป็นมากกว่าร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมันอย่างที่เคยเป็นมา ขับรถออกมาจาก PTT Station แห่งนี้สักพัก ก็คิดในใจว่า…สมแล้วที่เป็น “Green Station”