BIMobject-Wood-stairs-idea-for-better-life-Blog-Cover17

การออกแบบบันไดแบบไหนถึงจะมีคุณภาพ ควรทำอย่างไรที่ทำให้การเดินขึ้นบันไดนั้นปลอดภัยมากขึ้น เหนื่อยน้อยลง สัดส่วนและสรีระของการออกแบบงานสถาปัตย์สำหรับบันไดเป็นสิ่งสำคัญที่คนจำนวนมากอาจมองข้ามและส่งผลกระทบต่อการใช้งานบันไดในระยะยาว

แน่นอนว่าการสร้างบันไดในที่พักอาศัยเองก็มีข้อบังคับบรรจุอยู่ในตัวบทกฎหมายด้วยเช่นกัน โดยกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 23 ดังนี้

“บันไดของอาคารอยู่อาศัยถ้ามี ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่ น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และต้องมีพื้นหน้าบันไดมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได

บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่ น้อยกว่า 1.90 เมตร”

นอกเหนือจากนั้นยังมีข้อกำหนดต่างๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับบันไดสำหรับอาคารที่เป็นชุมชนหรือบันไดสูงเกิน 4 เมตรอีกด้วย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)

แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการกำหนดสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับบันไดนั้นซับซ้อนกว่าที่คิด

BIMobject-Wood-stairs-idea-for-better-life-01-scaled

รูปแบบของบันไดที่ควรรู้

บันไดสามารถแบ่งออกได้มากมายหลายแบบตามวัสดุ ลักษณะ โครงสร้าง รวมไปถึงการติดตั้ง ซึ่งในบทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างของบันไดที่นิยมกัน ดังนี้

1. บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก

การใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเป็นโครงสร้างที่ได้รับความนิยมสูงในบ้านและคอนโดทั่วไป ตัวบันไดจะมีการวางเหล็กเป็นแกนก่อนดำเนินการเทคอนกรีต การใช้โครงสร้างประเภทนี้จะไม่สามารถมองลอดลูกตั้งได้ ทำให้เกิดความทึบของบันได มีความสวยงามน้อยกว่าแบบเหล็กและไม้ ซึ่งปัจจุบันมีการนำพื้นไม้มาใช้งานร่วมกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อความสวยงามด้วยเช่นกัน

2. บันไดโครงสร้างเหล็กพื้นไม้

บันไดโครงสร้างเหล็กคือบันไดที่ได้รับความนิยมไม่น้อยสำหรับบ้านสมัยใหม่ ที่มีความสวยงามของบันไดไม้และมีความแข็งแรงไม่แพ้บันไดคอนกรีต โดยคานรับน้ำหนักของบันไดเหล็กสามารถอยู่ได้ทั้งด้านข้างและส่วนกึ่งกลางบันได

ข้อสังเกตคือบันไดที่ใช้โครงสร้างเหล็กอาจไม่มีลูกตั้งบันไดก็ได้ (เปิดโปร่ง) ทำให้บันไดสว่างและมีความสวยงามโดดเด่นมากขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้าน

โดยพื้นที่ใช้ร่วมกับบันไดรูปแบบนี้มักเป็นพื้นไม้ที่มีความหนา แข็งแรงทนทาน เท่ากันในทุกๆ ก้าวและสามารถรองรับน้ำหนักได้ดี

3. บันไดโครงสร้างไม้

สำหรับบันไดที่ใช้โครงสร้างไม้เป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยอดีต เนื่องจากเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายและจัดการได้สะดวกสบาย แลกกับความคงทนที่อาจน้อยกว่าสองแบบแรก บันไดโครงสร้างไม้สามารถทำได้ทั้งแบบปิดทึบและแบบโปร่ง

ปัจจุบันการทำโครงบันไดด้วยไม้เริ่มเสื่อมความนิยมลงและเน้นใช้เป็นไม้คู่กับบันไดเหล็กเป็นส่วนใหญ่ เพราะทนทานมากกว่า

BIMobject-Wood-stairs-idea-for-better-life-02-scaled

ปัจจัยสำคัญสำหรับการออกแบบบันได

เมื่อทราบถึงโครงสร้างกันไปแล้ว ลองดูปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับบันไดที่ทำให้การออกแบบส่งผลอย่างมากกับการใช้งานกันดีกว่า ซึ่งจะมีด้วยกัน 5 ปัจจัย คือ

1. ขนาดของบันได

ขนาดของบันไดสามารถแบ่งออกได้หลายแบบ โดยทั่วไปจะมีการวัด 3 ส่วนหลักคือลูกตั้ง ลูกนอน และความกว้างของบันได

ลูกตั้ง ลูกนอน

  • ลูกตั้ง (Riser) คือส่วนที่เป็นความสูงของขั้นบันไดแต่ละขั้น มักมีความสูงประมาณ 15-20 ซม.เพื่อการก้าวที่ไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก โดยลูกตั้งจำเป็นจะต้องมีความเท่ากันในทุกขั้นเสมอ บันไดบางประเภทเช่นบันไดไม้และเหล็กพื้นไม้อาจไม่มีลูกตั้งเพื่อความโปร่งโล่งของดีไซน์
  • ลูกนอน (Thread) คือส่วนพื้นของขั้นบันไดที่ยกขึ้นมา จะมีความลึกประมาณ 25-30 ซม. และมีความเท่ากันในทุกๆ ขั้น เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถก้าวได้เต็มเท้าและป้องกันอุบัติเหตุ ลูกนอนมักมีจมูกบันไดเพื่อกันลื่นและเพิ่มพื้นที่ในการใช้งาน

ความกว้าง

ความกว้างของบันไดถูกระบุไว้ในตัวบทกฎหมายอยู่แล้วว่าควรมีอย่างน้อย 80 เซนติเมตร ทว่าในด้านการใช้งานจริงความกว้างของบันไดควรอยู่ที่ 1.2-1.5 เมตร เพื่อความสะดวกในการเดินสามารถเดินสวนไปมากันได้ ความกว้างของบันไดยังเกี่ยวข้องกับการใช้งาน เช่น ขนเฟอร์นิเจอร์ ให้ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาด้านร่างกายในบ้านขึ้นลงได้อย่างสะดวกอีกด้วย

2. จมูกบันได

จมูกบันได คือ ส่วนที่ยื่นออกมาจากปลายของลูกนอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการก้าวขึ้น-ลงบันไดแต่ละขั้นมากขึ้น โดยส่วนมากในส่วนจมูกบันไดจะมีการเซาะร่อง วางวัสดุกันลื่น ไปจนถึงติดวัสดุเรืองแสงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานทั้งกลางวันและกลางคืน

BIMobject-Wood-stairs-idea-for-better-life-03-scaled

3. วัสดุในการทำพื้นบันได

พื้นบันไดที่ใช้ร่วมกับโครงสร้างเป็นหนึ่งในวัสดุที่ค่อนข้างยุ่งยากในการจัดการ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความคงทน ความปลอดภัย และการใช้งานที่ต้องรองรับน้ำหนักได้ดี หลายบ้านจึงเลือกใช้คอนกรีตซึ่งมีความง่ายในการก่อสร้าง

กระนั้นการเลือกใช้ไม้ โดยเฉพาะลามิเนตคุณภาพเข้ามาเป็นพื้นรวมถึงตกแต่งก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งส่วนของลูกตั้งและลูกนอน ซึ่งผู้ที่สนใจจะใช้ไม้ในการตกแต่งจำเป็นต้องคิดถึงการขูดขีด ความคงทนของไม้ ความหนาของขั้นบันได ไม่เช่นนั้นการใช้งานอาจไม่ได้มาตรฐาน

ไม้สำเร็จรูปวู้ดสมิตรเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นั้น เนื้อไม้ปิดผิวด้วย Melamine และมี Wear resistance layer ให้สีสันและลวดลายไม้ธรรมชาติ และต้านทานการขูดขีด ส่งเสริมให้บ้านดูสวยงามมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดขั้นตอนในการทำสีหรือเคลือบผิวหลังการติดตั้งได้อีกด้วย เนื่องจากผิวเคลือบเมลามีนลายไม้ สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องทำสีหรือเคลือบผิวเพิ่มเติม หากสนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่

4. จำนวนขั้นบันได

สำหรับด้านการใช้งานและหลักฮวงจุ้ยแล้วจำนวนขั้นบันไดควรเป็นเลขคี่โดยนับตั้งแต่บันไดขั้นที่ 1 ถึงชานพัก เพราะเชื่อว่าเลขคี่นั้นเป็นเลขของคนเป็นส่วนเลขคู่เป็นของคนตาย ซึ่งหากอิงตามหลักสถาปัตยกรรมศาสตร์เพิ่มเติมแล้วจะพบว่าขั้นบันไดเลขคี่จะให้ความสมดุลในการเดินมากกว่า (เช่น การเริ่มก้าวด้วยเท้าขวาแล้วจบด้วยการก้าวเท้าซ้าย)

สิ่งสำคัญคือควรมีชานพักเพื่อให้การขึ้นบันไดของเด็กหรือผู้สูงอายุไม่ลำบากจนเกินไป และทำให้ผู้ที่ถือของหนักๆ ขึ้นบันไดมีเวลาพักเหนื่อยด้วย

5. ราวจับบันได

ราวจับหรือราวกันตกที่ดีควรสูงประมาณ 75-85 ซม. ควรมีขนาดพอดีมือให้ผู้ใช้งานสามารถจับได้ถนัดและมีสีที่แตกต่างจากผนังเพื่อการสังเกตที่ง่าย ใช้วัสดุที่ไม่ลื่น ที่สำคัญคือมีการติดตั้งที่มั่นคง แข็งแรง สามารถรองรับการคว้าจับได้โดยไม่หักพังในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ สะดุดหกล้ม

วู้ดสมิตรมีราวจับบันไดคุณภาพสูงซึ่งทำจากไม้ผสม PVC ทำให้มีความทนทานและเหมาะกับการใช้งานทุกรูปแบบ สามารถดูได้ที่ไม้ราวบันไดจากวู้ดสมิตร

BIMobject-Wood-stairs-idea-for-better-life-04-1-scaled

ปัจจัยเสริมเกี่ยวกับบันได

นอกจากปัจจัยหลักเกี่ยวกับการติดตั้งบันไดแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ช่วยเสริมให้บันไดของคุณสมบูรณ์พร้อมใช้งานมากยิ่งขึ้นทั้งความสวยงามและความปลอดภัย โดยมีสิ่งที่ควรรู้ดังนี้

1. ความสว่าง

บันไดควรมีความสว่าง โปร่งโล่ง สามารถมองเห็นและช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน และจะดีมากขึ้นหากมีการติดไฟเพื่อทำให้มองเห็นขั้นบันไดยามค่ำคืน หรือใช้สติกเกอร์เรืองแสง เพื่อทำให้การก้าวเดินเป็นไปได้ด้วยความปลอดภัยมากขึ้น

2. การตกแต่งบันได

บันไดเป็นจุดที่ไม่ควรมีของตกแต่งใดๆ วางขวางทางเดิน หากต้องการความสวยงามอาจเป็นการตกแต่งพื้นบันได เช่น ใชับันไดไม้สำเร็จรูปตามสไตล์ที่ชอบ หากต้องการความสวยงามเพิ่มเติมอาจใช้กรอบรูปเพื่อตกแต่งบริเวณผนังแทน

สรุป

การออกแบบบันไดที่ดีควรมีความ ลึก สูง มากเพียงพอให้ผู้ใช้งานสามารถก้าวเดินได้อย่างสะดวกสบาย คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน มีดีไซน์ที่สวยงามและเหมาะสมกับที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบันไดที่ใช้พื้นไม้ ควรเลือกไม้ที่มีคุณภาพ มีความคงทน ไม่ลื่น ใช้งานได้ดี

ที่วู้ดสมิตรมีวัสดุไม้สำหรับทำบันไดคุณภาพให้คุณเลือกใช้งานทั้งในส่วนของราวบันไดและพื้นบันได ช่วยให้บันไดของคุณสวยงาม คงทนยาวนานมากขึ้น หากสนใจสามารถดูได้ที่ไม้พื้นบันไดวู้ดสมิตร

หากคุณสนใจที่จะจำลองการประกอบและใช้งานบันไดด้วยโมเดล 3 มิติ คุณสามารถเข้าไปดูโมเดลประกอบเพิ่มเติมได้ที่ BIMobject