BIMobject_Blog-Cover 01

สถานการณ์ Digital Disruption เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมทั่วโลกต้องมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าร่วมกับการทำงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และวงการอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกวงการที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ซึ่งเทคโนโลยีได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันคือ Building Information Modeling (BIM) ที่เป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยี ข้อมูล และการออกแบบเข้าด้วยกัน ช่วยให้การทำงานของสถาปนิก วิศวกร และบุคคลที่เกี่ยวข้องง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

BIM คืออะไร?

BIM หรือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในวงการก่อสร้างแบบครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบอาคารไปจนถึงการก่อสร้าง ซึ่งเทคโนโลยี BIM นั้นจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างแบบจำลองเสมือนของอาคารที่แม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การเขียนแบบ การคำนวณโครงสร้าง การประมาณราคา การจัดซื้อ รวมไปถึงการวางแผนงานระบบต่างๆ ของอาคาร

หัวใจหลักในทำงานของ BIM

what-is-bim-01

สำหรับหัวใจหลักในทำงานของ Building Information Modeling คือ กระบวนการในการสร้างแบบจำลองของอาคารที่เกิดจากการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ภายในโครงการเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ 2 มิติ หรือ 3 มิติ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่จะสามารถนำไปใช้ในการประมวลผลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการก่อสร้าง ทั้งในเรื่องของงานระบบน้ำ ระบบไฟ ผังพื้น การตรวจสอบทิศทางของแสงที่ตกกระทบอาคาร รูปด้าน รูปตัด ทัศนียภาพโดยรอบตัวอาคาร รวมถึงยังสามารถถอดปริมาณวัสดุได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของการออกแบบ ระบบก็จะปรับเปลี่ยนและบันทึกให้เป็นข้อมูลล่าสุดรวมถึงคำนวณทุกอย่างมาให้โดยอัตโนมัติ

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ BIM โดดเด่นและอยู่เหนือกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันคือ I หรือ Information ที่เป็นการบันทึกรายละเอียดและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดของตัวอาคารที่ออกแบบอยู่ จึงทำให้เราสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปวิเคราะห์ต่อได้ เช่น การสร้างแบบจำลอง Simulation หรือทำ Facility managment ต่างๆ เป็นต้น

จุดเด่นของการใช้เทคโนโลยี Building Information Modeling

  • BIM เน้นลักษณะการสร้างชิ้นงานในแบบ 3 มิติเป็นหลัก
    ลักษณะการสร้างชิ้นงานใน BIM นั้นจะใช้ระบบพารามิเตอร์ในการควบคุมขนาดและสัดส่วนต่างๆ ผ่านมุมมองแบบ 3 มิติ เป็นหลัก และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของวัสดุส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านขนาดหรือสัดส่วนก็จะส่งผลเชื่อมโยงถึงมุมมองอื่นๆ โดยอัตโนมัติ
  • เน้นการนำเสนองานออกแบบสถาปัตยกรรม งานโครงสร้าง และงานระบบมากขึ้น
    BIM คือเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบและพัฒนามาเพื่อเป็นเครื่องมือให้สถาปนิกและนักออกแบบใช้งานเพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบสถาปัตยกรรม งานโครงสร้าง และงานระบบมากขึ้นกว่าซอฟต์แวร์แบบเดิมที่เน้นในเรื่องของการเขียนแบบและงานนำเสนอเพียงอย่างเดียว
  • ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาทำงานให้น้อยลง
    เราสามารถใช้เทคโนโลยี BIM เพื่อช่วยลดขั้นตอนและการทำงานที่ซ้ำซ้อนจากการแก้ไขแบบ เนื่องจากระบบนั้นสามารถประมวลผลข้อมูลส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันได้ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลระบบก็จะมีการคำนวณและแก้ไขข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ
  • การลดการใช้ทรัพยากรบุคคล และค่าใช้จ่ายในการทำงาน
    ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี BIM จะเข้ามามีส่วนช่วยในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อให้สถาปนิกมีเวลาเหลือมากพอในการแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่สำหรับงานที่ต้องใช้การตัดสินใจ ความคิดสร้างสรรค์ หรืองานที่สำคัญกว่าได้
  • สามารถวิเคราะห์งานออกแบบในด้านต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
    BIM มีความสามารถวิเคราะห์ในการวิเคราะห์งานออกแบบด้านต่างๆ รวมถึงการทำแบบก่อสร้าง แบบขยาย และวิเคราะห์รายละเอียดของส่วนต่างๆ ในอาคารได้อย่างแม่นยำ เช่น การวิเคราะห์โครงสร้าง วิเคราะห์พื้นที่ ระบบน้ำ ระบบไฟ การไหลเวียนของอากาศภายในอาคาร ทิศทางแสง หรือการประหยัดพลังงาน เป็นต้น
  • ช่วยส่งเสริมการทำงานในทีมงานขนาดใหญ่
    การทำงานในทีมขนาดใหญ่นี้หมายความถึงการทำงานในรูปแบบการทำงานร่วมกัน หรือการประสานงานกันกับผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบบ BIM นี้สามารถเลือกกำหนดสิทธิ์และสัดส่วนความรับผิดชอบในส่วนต่างๆ ของอาคารได้ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงไฟล์งานของชิ้นงานต่างๆ เข้าด้วยกันได้ จึงสามารถแบ่งสัดส่วนงานให้ลูกทีมแต่ละคนได้รับผิดชอบตามหน้าที่หรือความถนัดของแต่ละคนได้

 

เทคโนโลยี BIM ตัวช่วยในการขับเคลื่อนวงการอสังหาริมทรัพย์

what-is-bim-02

BIM คือเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับการก่อสร้างตั้งแต่การวางโจทย์โครงการ แนวคิดของโครงการ การออกแบบอาคารหรือโครงสร้างด้วยแบบจำลอง 3 มิติ โดยสามารถสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการคำนวณขนาด สเปก และจำนวนวัสดุ ซึ่งฟังก์ชันต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อทั้งสถาปนิก วิศวกร และผู้ออกแบบทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานวางผัง งานระบบ เพราะทุกฝ่ายจะสามารถทำงานบนโมเดลเดียวกันได้ ทำให้ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน อีกทั้งยังทำให้การประสานงานระหว่างทีมเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในอนาคต BIM จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมก่อสร้างมากยิ่งขึ้นและขยายวงกว้างขึ้นกว่าเดิมจากแค่การออกแบบในแต่ละโครงการเป็นการออกแบบเพื่อรองรับการขยายตัวของสังคมเมืองหรือ Smart City เนื่องจากการวางโครงสร้างพื้นด้วยเทคโนโลยี BIM นั้นจะทำให้การบริหารรจัดการเมืองในรูปแบบ Smart City ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลของเมืองในรูปแบบ Digital จึงสามารถนำไปใช้กับการวิเคราะห์ บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

แนวโน้มการนำ BIM มาใช้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย

BIM ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานออกแบบได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านของจัดเตรียมข้อมูลอาคาร แบบก่อสร้างจริงที่ใช้ในการบำรุงรักษาอาคารให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการก่อสร้างหรือซ่อมแชมผิดตำแหน่ง อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการเตรียมข้อมูลได้อีกด้วย

ผลวิจัยของ MOCAP พบว่าบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบนั้นมีอัตราการรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี BIM มากกว่า ในขณะที่บริษัทก่อสร้างและบริษัทเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอาคารนั้นมีอัตราการรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี BIM เพียง 20% เท่านั้น โดยคอนโดมิเนียมเป็นประเภทอาคารส่วนใหญ่ที่ BIM ใช้ในการก่อสร้าง ตามมาด้วยบ้านเดี่ยว และโรงพยาบาล ตามลำดับ

what-is-bim-03

สำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยนั้นมีผู้พัฒนากลุ่มโครงการคอนโดมิเนียมชั้นนำหลายค่าย ที่มีการเริ่มนำเทคโนโลยี BIM มาใช้ในการออกแบบอาคารบ้างแล้วเช่นกัน ข้อมูลจากบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เผยว่า บริษัทเริ่มมีการศึกษาและนำเทคโนโลยี BIM มาปรับใช้ในงานก่อสร้างตั้งแต่ช่วงปี 2560 โดยเริ่มใช้ในส่วนของแผนงานที่สำคัญ เช่น การปูกระเบื้อง การสั่งตัดเหล็ก รวมถึงนำมาใช้เพื่อลดความขัดแย้งของแบบโดยรวมเพื่อป้องกันการทุบรื้อ เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ท่อที่ต่อไปชนกับคานนั้นอาจทำให้ต้องใช้เวลาซ่อมแซมนานกว่า 4 เดือน ซึ่งผลการนำเทคโนโลยี BIM มาปรับใช้ในการออกแบบโครงสร้างอาคารนั้น ทำให้สามารถลดต้นทุนไปได้ถึง 27 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยลดระยะเวลาดำเนินงานจากความเสี่ยงในการออกแบบแล้ว BIM ยังช่วยทำให้การบริหารจัดการอาคารได้เร็วขึ้น ผ่านการตรวจเช็กดูแลที่เป็นระบบเดียวกันด้วย

 

สรุป

BIM ถือเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงวงการอสังหาริมทรัพย์ให้พัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด ด้วยหัวใจหลักของข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในระบบ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการทำ BIM ก็คือการมีดิจิทัลไฟล์ของวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่ง ที่มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อยอดในการทำงานออกแบบให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

BIM object เป็นแหล่งรวบรวมโมเดลแบรนด์ไทยหลากหลายขึ้นกว่า 2,000 แบรนด์
ที่มีข้อมูลถูกต้อง และดาวน์โหลดฟรี มีให้ดาวน์โหลดแล้วที่ BIMobject Thailand