BIMobject-color-theory-with-architecture-Blog-Cover43

ทฤษฎีสีเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่นักออกแบบและสถาปนิกต้องคำนึงถึงในการออกแบบสถาปัตยกรรม การรู้เรื่องเกี่ยวกับสีเบื้องต้นจะช่วยเพิ่มคะแนนความได้เปรียบในการออกแบบให้แก่ชาวสถาปนิก นอกจากนี้ การนำทฤษฎีมาใช้ในงานออกแบบยังมีส่วนช่วยให้งานที่เราสร้างสรรค์ออกมามีความโดดเด่นและแตกต่างอยู่เสมอ

ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จัก 7 เรื่องต้องรู้ของทฤษฎีสีกับการออกแบบสถาปัตยกรรม เพื่อให้คุณนำไปใช้ในงานออกแบบได้อย่างมือโปร

1. ทฤษฎีสีคืออะไร? สำคัญกับงานออกแบบตรงไหน?

Color Theory หรือ ทฤษฎีสี คือ ทฤษฎีที่อธิบายเรื่องการผสมสีจากแม่สีเพื่อให้ได้สีต่างๆ รวมถึงการจับคู่สีเข้าด้วยกันอย่างลงตัว นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงความหมายของสีอีกด้วย ทฤษฎีสีประกอบด้วยวงล้อสี คุณสมบัติของสี การจับคู่สี ความหมายของสี และโมเดลของสี

จุดเริ่มต้นของทฤษฎีสีเกิดขึ้นมานานนับพันปี อริสโตเติลเป็นบุคคลแรกๆ ที่เอ่ยถึงทฤษฎีสีเอาไว้ว่า สีบนโลกของเรามาจากพระเจ้าและธรรมชาติ ได้แก่ สีของดิน น้ำ ลม และไฟ หลังจากนั้นก็ยังคงมีการศึกษาเรื่องสีต่อมาเรื่อยๆ และมีคนอธิบายทฤษฎีของสีไว้มากมาย

วิดีโอข้างต้นได้พูดถึงทฤษฎีสีที่ได้รับการยอมรับในแต่ละยุคสมัย โดยในช่วงแรกสีถูกศึกษาด้วยหลักการวิทยาศาสตร์และต่อมาทฤษฎีสีก็ถูกนำมาใช้ในวงการศิลปะและงานออกแบบด้วย

Color Theory

แผนภาพอธิบายทฤษฎีสีที่ใช้กันในยุคปัจจุบัน

ทฤษฎีสีในยุคปัจจุบันจะมีเรื่องของ Color Models สำหรับการใช้สีในช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของ Color Properties คุณสมบัติของสีเมื่อใส่เอฟเฟกต์ต่างๆ อีกด้วย

  • Dark: สีเมื่อเจอกับความมืดจะทำให้สีจริงดูเข้มขึ้น
  • Bright: สีเมื่อเจอกับแสงสว่างจะทำให้เห็นสีจริงและเมื่อแสงเพิ่มขึ้นจะทำให้สีดูจางลง
  • Saturated: ค่าความอิ่มตัวที่ทำให้สีสดขึ้น
  • Desaturated: ค่าความอิ่มตัวที่ทำให้สีจางลง
  • Monochrome: การใช้สีเพียงสีเดียว แล้วปรับด้วย Shade Tint หรือ Tones เพื่อสร้างค่าชุดสีที่มีค่าน้ำหนักเข้มและอ่อน

2. จับคู่สีอย่างลงตัวด้วยวงล้อสีและคู่สีที่ใช่ (Color Harmony)

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรเลือกสีไหนไปใช้ในการออกแบบ? วงล้อสีและทฤษฎีสีทำให้การเลือกชุดสีเพื่อใช้ในงานออกแบบ (Color Combinations) ง่ายขึ้น วิธีการเลือกชุดสีในการออกแบบนั้นมักใช้ 2-4 สีขึ้นไปโดยไม่ควรใช้จำนวนสีที่มากเกินไปกว่านี้ เพราะจะทำให้พื้นที่ขาดความกลมกลืนและดูไม่เข้ากัน หลักการในการจับคู่สีมี 6 รูปแบบ ดังนี้

Color Wheel

วงล้อสีและการจับคู่สีตามทฤษฎีสี

  • Complementary: สีคู่ตรงข้าม
  • Analogous: สีข้างเคียง
  • Triadic: ชุดสีสามเหลี่ยม
  • Split-Complementary: สีตรงกันข้ามเยื้องทั้งสองด้าน
  • Rectangle: ชุดสีสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นสีที่ตรงกันข้ามแบบข้างเคียงกันทั้ง 4 สี
  • Square: ชุดสีสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นชุดสีตรงข้ามกันทั้ง 4 สี

เพียงแค่จับคู่สีตามหลักดังนี้ก็จะช่วยเพิ่มไอเดียในการใช้สีสำหรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมส่วนต่างๆ รวมถึงการวางเฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งได้หลากหลายขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มคอนเซปต์ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งทำให้องค์ประกอบต่างๆ ลงตัวอีกด้วย นอกจากการจับคู่สีตามวงล้อสีแล้วนักออกแบบควรศึกษาสัดส่วนของการเลือกใช้สีเพิ่มเติมเพื่อการใช้งานที่เหมาะสมอีกด้วย

BIMobject-color-theory-with-architecture-06

ตัวอย่างการจับคู่สีในงานสถาปัตยกรรมตามทฤษฎีสี ด้วยชุดสีแบบสามเหลี่ยม

3. สร้างความเป็นเอกเทศได้ด้วย Monochrome Saturation และ Light & Dark

คำว่า Monochrome ไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่สีดำ ขาว และเทาเพียงอย่างเดียวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเท่านั้น แต่ Monochrome หรือ การใช้สีเอกรงค์ หมายถึง การนำสีหนึ่งมาเพิ่มลดน้ำหนักสีด้วยการปรับ Saturation และ Light & Dark ทำให้ได้สีในโทนเดียวกันที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงช่วยสร้างความมีมิติให้แก่งานแต่ยังคงความเป็นหนึ่งเดียวกันไว้

หากคุณต้องการสร้างความเป็นเอกเทศในงานออกแบบ เทคนิคการคุมโทนสีด้วย Monochrome เป็นเทคนิคที่น่าสนใจอีกทางเลือกหนึ่ง การใช้สีสไตล์ Monochrome ในงานออกแบบห้องและสถาปัตยกรรมโดยเลือกใช้สีพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์ในโทนเดียวกันจะช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นเอกเทศและทำให้งานดูน่าสนใจมากขึ้น

BIMobject-color-theory-with-architecture-05

4. ทุกสีมีความหมาย: รู้จักความหมายของสี และ จิตวิทยาของสี

นักออกแบบทุกคนต่างรู้ดีว่า การออกแบบงานสถาปัตยกรรมต้องอาศัยสีในการสร้างอารมณ์และความรู้สึกร่วม เพราะสีแต่ละสีมีความหมายในตนเองและสามารถกระตุ้นให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ในการออกแบบเราจึงควรทำความเข้าใจถึง “Color Meaning” และ “Psychology of Color”

BIMobject-color-theory-with-architecture-03

ความหมายของสีแบ่งได้เป็นหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นความหมายของสีตามทฤษฎีสี ความหมายของสีในเชิงจิตวิทยา ความหมายของสีในเชิงประสบการณ์ส่วนตัว และความหมายของสีในเชิงวัฒนธรรม ทำให้สีสีหนึ่งมีความหมายแตกต่างกันไปได้ ยกตัวอย่างความหมายของสีเขียวในแง่มุมต่างๆ

  • ความหมายของสีเขียวในเชิงทฤษฎีสี: สื่อถึงความสงบ การมีสุขภาพที่ดี ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ และความมีชีวิตชีวา
  • ความหมายของสีเขียวในเชิงจิตวิทยา: ความเข้าถึงง่าย ความเชื่อใจ ความรู้สึกน่ากลัว ความมีพลัง และอำนาจลึกลับ
  • ความหมายของสีเขียวในเชิงวัฒนธรรม: บางประเทศสื่อถึงเวทมนตร์และความเป็นพิษ

จะเห็นได้ว่าความหมายของสีมีความแตกต่างกันไปตามบริบท เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญในงานสถาปัตยกรรมอย่างมาก การสื่อความหมายด้วยสีจึงต้องมองในหลายๆ แง่มุมเพื่อให้สื่อสารออกมาได้อย่าชัดเจน

5. ร้อน-เย็นเราเลือกได้

นอกจากเรื่องความหมายและจิตวิทยาของสีแล้ว การเลือกใช้โทนสีร้อนเย็นก็ส่งผลต่อความรู้สึกได้เช่นกัน ตัวอย่างสีโทนต่างๆ ได้แก่

  • สีโทนร้อน (Warm Color)

สีโทนร้อนประกอบด้วยสีเหลือง ส้ม ส้มแดง แดง ม่วงแดง และม่วง สีเหล่านี้เป็นสีที่ให้ความรู้สึกและอารมณ์ร้อนแรง อบอุ่น ตื่นเต้น และดึงดูดสายตา

  • สีโทนเย็น (Cool Color)

สีโทนเย็นประกอบด้วยสีเหลือง เหลืองเขียว เขียว เขียวน้ำเงิน น้ำเงิน น้ำเงินม่วง และม่วง สีเหล่านี้จะให้อารมณ์ที่แตกต่างจากโทนร้อน คือ อารมณ์สงบ เยือกเย็น มีชีวิตชีวา และน่าค้นหา

  • สีโทนกลาง

สีโทนกลางประกอบด้วยสีเหลืองและสีม่วง เพราะสีทั้งสองสามารถอยู่ได้ทั้ง 2 โทนและให้ความรู้สึกได้ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน

เมื่อนักออกแบบต้องการทำให้สถาปัตยกรรมนั้นๆ สื่ออารมณ์แบบไหนออกมาก็สามารถเลือกใช้สีโทนนั้นๆ ในงาน โดยสามารถเลือกใช้สีโทนใดโทนหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรือใช้สีทั้งสองโทนผสมผสานกันก็ได้เช่นกัน

6. แสงสี และ แสงกับสี

การใช้ศาสตร์ของแสงในงานออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะด้วยการใช้แสงทำให้เกิดมิติและเงาส่งผลต่ออารมณ์และความสวยงามของสถาปัตยกรรมได้โดยตรง ในหัวข้อนี้เราขอแบ่งเป็นประเด็นของการใช้ ‘แสงสี’ และ ‘แสงกับสี’

  • แสงสี

การใช้แสงสีประกอบด้วยการใช้ทั้งศาสตร์ของแสงกับศาสตร์ของสี ตามที่เราได้อธิบายไปข้างต้นว่า สีมีความหมายและส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้พบเห็นได้โดยตรง ทำให้นักออกแบบสามารถหยิบยกส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ได้ด้วยการนำแสงสีต่างๆ มาตกแต่งงานสถาปัตยกรรมหรือการตกแต่งห้องเพื่อสร้างอารมณ์ให้แตกต่างกันออกไป

ตัวอย่างการใช้แสงสี

  • การใช้แสงโทนอุ่นอย่างไฟ Warm-Light สามารถเปลี่ยนห้องสีขาวธรรมดาที่ดูแข็งกระด้างให้มีความอบอุ่น สบายตาและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
  • การใช้แสงไฟ Cool White ในห้องจะทำให้ห้องมีแสงสว่างที่ทั่วถึงเพิ่มความชัดเจน ทำให้ห้องดูสดใสและมีชีวิตชีวา แต่หากใช้แสงขาวมากไปก็จะทำให้รู้สึกแข็งกระด้างและไม่สบายตา
  • การใช้แสงสีต่างๆ ทำให้ห้องธรรมดาดูแปลกตาไปได้เช่นกัน ดังตัวอย่างด้านล่าง เมื่อเปลี่ยนแสงทั่วไปให้เป็นแสงสีทำให้รู้สึกร่วมไปกับสีนั้นๆ การใช้สีม่วง-ฟ้าทำให้ห้องดูสดใสขึ้น มีความทันสมัย น่าตื่นเต้น และสนุกสนานมากยิ่งขึ้น ส่วนการใช้แสงสีส้ม-เขียวทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้ง เร่งรีบ ร้อนรน และตื่นตัว

BIMobject-color-theory-with-architecture-04

  • แสงกับสี

แสงที่ตกกระทบกับสีทำให้โทนของสีเปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและความหมายของสีได้ ดังนั้นในการเลือกใช้สีเราสามารถนำค่า Ligh กับ Dark ในโทนสีนั้นๆ มาประกอบเพื่อตรวจเช็กภาพลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมที่ออกมา ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพบริเวณที่ได้รับแสงมากน้อยและเห็นภาพรวมในการปรับเปลี่ยนของสี

7. สื่อสไตล์ – ยุคสมัยได้ด้วยสี

นอกจากเรื่องทฤษฎีของสีแล้ว สีก็ยังเป็นเครื่องสะท้อนสไตล์ได้อย่างชัดเจน งานสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งบ้านเลือกใช้สีที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุค ดังนั้น ทุกสีจึงมีหน้าที่ในการแสดงภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับยุคสมัยได้อีกด้วย

  • Vintage Style ยุค 50s

ในช่วงปี 1950 เป็นช่วงที่ทั้งโลกเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ไม่นาน ทำให้ผู้คนมองหาการเยียวยาจิตใจและสะท้อนผ่านทางโทนสีที่เรียกว่า “สีพาสเทล” ซึ่งสื่อถึงความอ่อนโยน การมองโลกในแง่ดี และภาพลักษณ์ที่สดใส คนในยุคนั้นจึงนิยมแต่งห้องด้วยสีโทนอ่อน การเลือกใช้สีโทนอ่อนในการตกแต่งห้องและสถาปัตยกรรมจึงสื่อถึงสไตล์วินเทจและยุคนั้นได้อย่างชัดเจน

BIMobject-color-theory-with-architecture-07

  • Retro-Neo Style ยุค 80s

ยุคที่ผู้คนกำลังเฟื่องฟูและเต็มไปด้วยความสุข ในยุคนั้นมีการเกิดใหม่ของวัฒนธรรมมากมาย อุตสาหกรรมบันเทิงและแฟชั่นกำลังเติบโต รวมทั้งมีการเกิดขึ้นของวิดีโอเกมจึงทำให้โทนสีในยุคนั้นเป็นสีที่มีความสดใสจัดจ้านเพราะเกิดสีสังเคราะห์ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย การเลือกใช้สีฉูดฉาด ชัดเจน และตัดกันจึงสะท้อนความเป็นยุค 80 ออกมาได้เป็นอย่างดี

  • Modern ยุคปัจจุบัน

เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนเริ่มกลับไปมองหาความเรียบง่าย โทนสีที่นิยมในยุคนี้จึงเป็นสี Monotone ขาวดำในการตกแต่งเพื่อเน้นความเรียบง่ายและทันสมัย รวมทั้งสี Earth Tone ที่สื่อถึงความเป็นธรรมชาติและสันติอีกด้วย

นอกเหนือจากทฤษฎีสี ยังมีทฤษฎีอื่นๆ ที่ต้องรู้

นอกเหนือจากทฤษฎีเบื้องต้นที่กล่าวไปจะช่วยอธิบายและช่วยให้ชาวสถาปนิกออกแบบได้อย่างกูรูแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการรับรู้ของคนอีกด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความแตกต่างกันไปเฉพาะตัว ดังนั้น ก่อนที่จะออกแบบ หากเรามีข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้คุณออกแบบงานสถาปัตยกรรมได้อย่างตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น ได้แก่

  • การตอบสนองทางชีวภาพต่อสี (Biological Reaction to a Color Stimulus)

ร่างกายของคนเราตอบสนองต่อสีและสภาพแวดล้อมแม้มองไม่เห็น มีการทดสอบด้วยการปิดตาผู้เข้าทดลองโดยให้เขาเข้าไปในห้องที่มีสีต่างกัน ผลปรากฏว่าชีพจรของเขาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเข้าไปในห้องที่มีสีแดงและลดลงเมื่อเข้าไปในห้องที่มีสีน้ำเงิน

  • จิตใต้สำนึกและประสบการณ์ส่วนตัวต่อสี (Subconsciousness & Personal Relations)

คนแต่ละคนมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสีที่แตกต่างกันไป บางคนอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับสีแดงที่สื่อถึงเลือด สีดำที่สื่อถึงความมืด หรือสีส้มที่คล้ายคลึงกับสีของไฟ ดังนั้น ในการออกแบบสถาปัตยกรรมส่วนบุคคลให้ใคร ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่นักออกแบบควรคำนึงถึงด้วย

  • สัญลักษณ์และอิทธิพลทางวัฒนธรรม (Symbolism & Cultural Influence)

ในแต่ละพื้นที่และชนชาติมีวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างสีเขียวในวัฒนธรรมของคนอังกฤษมีความเชื่อมโยงกับเวทมนตร์และความไม่สบายตัว แต่สีเขียวในวัฒนธรรมของชาวเยอรมันนั้นเชื่อมโยงกับความหวัง

ในทางกลับกันถึงแม้ว่าแต่ละวัฒนธรรมจะมีความแตกต่างกันแต่ก็จะมีบางสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์สากลที่ทั้งโลกมีความเห็นตรงกัน เช่น สีทองและสีเงินที่ในแต่ละชาติมักเห็นพ้องตรงกันว่า เป็นสีที่สื่อถึงความร่ำรวยมั่งคั่ง เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้แม้ไม่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสีโดยตรงแต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่นักออกแบบระดับกูรูควรให้ความสำคัญเพื่อให้การสร้างสรรค์และออกแบบงานสถาปัตยกรรมออกมาอย่างสมบูรณ์และตรงใจผู้อยู่อาศัยมากที่สุด

สรุป

สีกับงานสถาปัตยกรรมเป็นของคู่กันไม่สามารถแยกจากกันได้ การนำทฤษฎีสีมาใช้กับงานออกแบบจึงช่วยเสริมให้งานสถาปัตยกรรมมีคอนเซปต์ที่น่าสนใจ เติมความโดดเด่นให้กับงาน และทำให้งานชิ้นนั้นๆ มีความหมายสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทฤษฎีสียังช่วยให้การเลือกใช้สีในแต่ละส่วนของงานสถาปัตยกรรมมีความเข้ากันได้ เป็นหนึ่งเดียวกัน สื่อความหมายและอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจน รวมถึงการใช้แสงได้อย่างถูกต้อง และสะท้อนสไตล์การตกแต่งออกมาผ่านสีได้อีกด้วย

ในบางครั้งสถาปนิกอาจเจอกับปัญหาสีที่ใช้ในการออกแบบกับสีจริงมีความแตกต่างกัน ทำให้สิ่งที่ตั้งใจวางในงานออกแบบเปลี่ยนไป หากคุณเป็นสถาปนิกนักออกแบบแล้วกำลังมองหาตัวช่วยเรื่องนี้ BIM จะช่วยสร้าง 3D Model ให้คุณได้เห็นภาพรวมของงานอย่างสมจริงทั้งรูปร่าง ตำแหน่ง การจัดวาง และสี

การดาวน์โหลด Model จาก BIMobject เพื่อใช้ในงานออกแบบเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักออกแบบและสถาปนิก ที่จะช่วยตัดปัญหาสีผิดเพี้ยนและสเกลไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะ Model จาก BIMobject ทุกชิ้นมาจาก Model ของสินค้าจริงและยังหาซื้อได้อีกด้วย ทำให้คุณไม่ต้องเจอกับปัญหาสีไม่ตรงบรีฟอีกต่อไป