BIMObject ขอยกกรณีศึกษาด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยในประเทศจีน มาสร้างแรงบันดาลใจให้สถาปนิก ในการสร้างพื้นที่อันเต็มไปด้วยข้อจำกัดที่ใครเห็นก็มองว่าแทบเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ กับบ้านตัวอย่าง 3 หลัง ที่ได้รับการแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดของพื้นที่ผ่านการออกแบบอย่างชาญฉลาด

B.L.U.E. Architecture Studio

รังสรรค์บ้านไม้หลังน้อย
เรียงรายอย่างลงตัวในพื้นที่แคบยาว

นี่คือบ้านรูปตัว L ในลักษณะแคบและยาว แถมถูกประกบอยู่ระหว่างผนังบ้านหูตงเก่าแก่และฟาซาดของบ้านสองชั้นในเขตตงเฉิง กลางกรุงปักกิ่ง พื้นที่ใช้สอย 43 ตร.ม. ถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสมาชิก 3 รุ่น จำนวน 6 ชีวิต ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลให้ห้องแต่ละห้องในบ้านมีแสงธรรมชาติส่องถึงได้น้อย หรือเรียกไม่ทั่วถึงอย่างที่ควรจะเป็นก็ว่าได้

เบื้องต้นสถาปนิกแก้ปัญหาเรื่องแสงสว่างส่องไม่ทั่วถึงบ้าน ด้วยการติดตั้งหลังคาโปร่งแสงหรือสกายไลท์แถบกว้าง 40 ซม. เป็นช่องนำแสงทอดยาวไปทั่วทั้งบ้าน พร้อมแบ่งซอยพื้นที่ใช้สอยออกเป็นบ้านไม้หลังเล็กเรียงรายเป็นกล่องคละขนาดความสูงต่อกันตามแนวที่ดินรูปตัว L ดังจะเห็นได้จากกล่องไม้เหล่านี้ ชั้นล่างทำหน้าที่เป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องนอน ห้องทำงาน และห้องน้ำ อันเป็นพื้นที่ใช้สอยแยกส่วนอิสระตอบสนองต่อการใช้งานในมิติและความต้องการของสมาชิกแต่ละคน ส่วนชั้น 2 ของกล่องไม้ ถูกปรับเป็นห้องนอนเด็ก และสนามเด็กเล่นอันปลอดภัยของพวกเขา

ขณะเดียวกัน สถาปนิกก็ใช้วิธีสร้างทางเดินส่วนกลางแบบเปิดโล่งเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายในและภายนอกของบ้านทั้งหมดเข้าหากันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งหมดทั้งมวล คือภาพสะท้อนแนวคิดของสถาปนิกในการออกแบบบ้านสามารถมีพื้นที่เปิดโล่งและซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะในเมืองได้ โดยใช้แรงบันดาลใจจากพื้นที่สาธารณะบ้านหูตงดั้งเดิมโดยไม่ละทิ้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสิ่งแวดล้อม

INSPIRATION GROUP

ฟื้นบ้านเก่าให้ไฉไล
ชุบชีวิตใหม่โดยไม่ทิ้งจิตวิญญาณเดิม

อีกหนึ่งตัวอย่างในการใช้วิชาออกแบบช่วยแก้ปัญหา จนสามารถเก็บรักษาความทรงจำและความผูกพันในบ้านหลังเก่าเอาไว้ โดยไม่ต้องแลกมาด้วยการทุบทำลายเสียทั้งหมด

แนวคิดนี้เป็นของสถาปนิกจาก INSPIRATION GROUP พวกเขาปรับปรุงบ้านเก่าแก่อายุนับร้อยปี ขนาดความสูงสามชั้นครึ่ง หรือสูงกว่า 17 เมตร ในเมืองโบราณย่านซีกวน (Xiguan) เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งผ่านการใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวจีนมาแล้ว 3 เจเนอเรชั่นด้วยกันเอาไว้ได้อย่างแยบคาย ถึงแม้ตัวบ้านจะมีสภาพที่ทรุดโทรมอย่างมากก็ตาม

ด้วยข้อคำนึงเรื่องความปลอดภัย สถาปนิกจึงใช้วิธีการรีโนเวตโดยแยกโครงสร้างหลักของส่วนต่อเติมใหม่ออกจากโครงสร้างเดิม ใช้การติดตั้งโครงสร้างเหล็กในลักษณะกรงนก (birdcage) เพื่อสร้างพื้นที่พักอาศัยใหม่ความสูง 5 ชั้น บนฐานรากแพ (Raft Foundation) คอยช่วยรับน้ำหนัก แต่ยังคงผนังอาคารทั้งสองด้านที่ใช้ร่วมกับเพื่อนบ้านดังเดิมเอาไว้

พร้อมกันนี้ยังสร้างช่องแสงและช่องลมเพื่อสร้างการไหลเวียนที่ดีของอากาศภายในอาคาร ผสานกับการนำเฟอร์นิเจอร์ดั้งเดิมบางส่วนมาใช้งานในบ้านที่ชุบชีวิตขึ้นใหม่ จนได้เป็นพื้นที่พักอาศัยที่นอกจากจะฟื้นฟูบ้านเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยังเป็นการสานต่อความทรงจำจากอดีตที่สืบต่อกันมา 3 รุ่นให้คงอยู่ต่อไปอย่างน่าชื่นชม

Limu Design Studio เปลี่ยนบ้าน 13 ก้าว
ให้กลับมาน่าอยู่ราวกับบ้านหลังใหญ่

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในเขตผู่ตง กรุงเซี่ยงไฮ้ เป็นที่อยู่ของครอบครัวชาวจีนมาแล้ว 3 เจเนอเรชั่นเช่นเดียวกับบ้านหลังก่อนหน้า ทว่าความต่างของบ้านหลังนี้ คือตัวบ้านมีลักษณะละม้ายด้ามมีด แปลนบ้านรูปตัว L มีขนาดของพื้นที่ไม่ถึง 34 ตร.ม. หรือเดินถึงเพียง 13 ก้าว จากด้านใต้ไปทิศเหนือ และตั้งอยู่ชั้นบนสุดของแฟลตเก่าที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1980

เพื่อการแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้เป็นสัดส่วนและเชื่อมต่อกันอย่างแยบคาย รวมถึงสามารถรองรับกิจกรรมของสมาชิกในบ้านที่มีความชื่นชอบแตกต่างและหลากหลาย สถาปนิกจึงเลือกใช้วิธีการสร้างลำดับการใช้งานในบ้านให้เป็นห้องใหญ่ 3 ห้อง เชื่อมต่อกันในแนวทแยงมุมแบบซิกแซ็ก ทั้งนี้เพื่อขยายระยะของการมองเห็นให้ยาวขึ้นจาก 1.7 เมตร เป็น 6.2 เมตร เมื่อมองตามแนวความลึกของเส้นทแยงมุม และไอเดียนี้ช่วยสร้างการมองเห็นกันและได้แม้สมาชิกในบ้านจะนั่งอยู่คนละห้องก็ตาม

3 ห้องที่ว่านั้นประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น พร้อมชั้นลอยขนาด 2 x 2 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งจินตนาการสำหรับสมาชิกตัวน้อยในบ้าน ห้องครัวสำหรับคุณปู่ผู้รักการทำอาหาร โดยมีห้องนอนใหญ่ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใหญ่สุดในบ้านถึง 12 ตร.ม. ซึ่งสามารถรองรับกิจกรรมหลายประเภท ทั้งการนอน ทำงาน เล่นเปียโน เต้นรำ ออกกำลังกาย และเป็นที่ชมภาพยนตร์ของทุกคนในบ้าน เรียกว่าทุกตารางนิ้วถูกออกแบบให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด

สังเกตว่าพื้นที่ใช้สอยยิ่งเล็ก ยิ่งต้องจัดสรรพื้นที่ใช้งานและการจัดเก็บให้เรียบร้อย ดังนั้นหากสถาปนิกคนไหนที่กำลังมองหาทางออกสำหรับปัญหาในการออกแบบพื้นที่ใช้สอยอันจำกัดเช่นนี้ได้อย่างตรงใจ BIMObject ขอแนะนำ HAWA Sliding Solutions เทคโนโลยีมาตรฐานสวิตเซอร์แลนด์ที่ทั่วโลกยอมรับ และถูกเลือกใช้โดยสถานที่สำคัญของโลกอย่างเช่น Burj Khalifa ตึกสูงที่สุดในโลกกลางกรุงดูไบ หรือ The Gherkin ตึกระดับไอคอนิกแห่งกรุงลอนดอน เป็นต้น

ชมได้ที่ไหน? แวะมาได้ที่ HAFELE Design Studio ซึ่ง The Hawa Experience โดย เฮเฟเล่ ประเทศไทย มีตัวอย่างนวัตกรรมคุณภาพสูงในการออกแบบพื้นที่อเนกประสงค์ โดยใช้อุปกรณ์บานเลื่อนจากแบรนด์ HAWA ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ตแวร์และฟิตติ้งสำหรับบานเลื่อนและบานเฟี้ยมคุณภาพสูงมากว่า 56 ปี ให้ชมจุใจเลยล่ะ