คุณสมบัติของโครงสร้างเหล็กช่วยขยายขอบเขตของงานโครงสร้างสถาปัตยกรรมให้กว้างขวางและเป็นไปได้อย่างที่ใจต้องการ จากภาพจำเดิมของงานโครงสร้างเหล็กที่มีเส้นขอบเหลี่ยมตรง แสดงถึงความแข็งแกร่ง หรือภาพลักษณ์ในสไตล์ลอฟท์ ที่บอกเล่าความเรียบเท่ คาแร็กเตอร์ของเหล็กอย่างที่ทุกคนคุ้นเคย

แต่ด้วยคุณสมบัติของตัววัสดุเหล็กที่สามารถบิดโค้งได้ และความแข็งแรงเหมาะกับการทำงานโครงสร้าง ทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้สถาปนิกได้แสดงฝีมือด้านงานออกแบบในรูปฟอร์มที่แปลกใหม่เหนือจินตนาการ และตัววัสดุโครงสร้างเหล็กเองก็ช่วยดึงศักยภาพในงานสถาปัตยกรรมออกมาอย่างสมบูรณ์ นั่นทำให้โครงสร้างเหล็กกลายมาเป็นตัวเลือกที่น่าจับตาสำหรับงานสถาปัตยกรรมทุกประเภท

มุมมองงานดีไซน์ด้วยพื้นฐานโครงสร้างเหล็ก

จากไอเดียในจินตนาการ ถ่ายทอดมาสู่สถาปัตยกรรมบนพื้นที่จริง เหตุผลที่โครงสร้างเหล็กสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมได้อย่างใจต้องการมาจากเหตุผลสำคัญสองประการ

ข้อแรก นอกจากคุณสมบัติของวัสดุเหล็กที่สามารถปรับ ดัดโค้ง บิดได้องศาและระดับตามความต้องการแล้ว รูปแบบของท่อเหล็กสำหรับงานโครงสร้างยังมีให้เลือกทั้งแบบท่อเหล็กเหลี่ยม และแบบแบน จึงสามารถเลือกรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับงานออกแบบได้หลากหลาย

อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องของการทำงานกับโครงสร้างที่สะดวกสำหรับคนหน้างาน ด้วยน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ดูแลง่าย และสร้างสรรค์งานได้ตามแบบ สามารถติดตั้งงานได้รวดเร็ว ลดระยะเวลาการก่อสร้าง ปรับเปลี่ยนสัดส่วนและรูปฟอร์มได้ตามที่ต้องการ เมื่อข้อดีทั้งสองมารวมกัน ก็ทำให้โครงสร้างเหล็กสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมหลากหลายรูปทรง โดยเฉพาะกับทรงโค้งที่งานโครงสร้างเหล็กสามารถทำได้ผ่านเส้นสายเฉียบคมที่เรียบร้อยสวยงาม

ตัวอย่างสถาปัตยกรรม

จากโครงสร้างเหล็กทรงโค้ง

ไอเดียจากต่างประเทศ 

  1. Amazon Spheres / NBBJ Seattle , United States 2018

(เครดิตภาพ Sean Airhart PhotographyBruce Damonte Architectural PhotographerStuart Isett)

ด้วยแนวความคิดที่ต้องการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างผู้คนภายในอาคารกับพื้นที่สาธารณะภายนอก สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Amazon จึงมาด้วยรูปลักษณ์ของลูกแก้วสามลูก เสมือนเป็นโดมของสวนพฤกษศาสตร์ที่สะสมพืชพรรณกว่า 400 ชนิดจากห้าทวีปทั่วโลก 

โดมกระจกแห่งนี้จึงเป็นทัศนียภาพของเมือง ไปพร้อมกันกับสร้างบรรยากาศการทำงานรูปแบบใหม่ที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และสร้างไลฟ์สไตล์ที่ดีให้กับคนทำงานในเวลาเดียวกัน และโครงสร้างเหล็กคือผู้เติมเต็มจินตนาการงานออกแบบอาคารหลังนี้ให้เป็นจริงได้ ด้วยการใช้เหล็กโมดูลห้าเหลี่ยมยาว 180 เมตร กำหนดจุดเชื่อมทั้งห้ามุมด้วยหลักการทางคณิตศาสตร์ แล้วกรอบโค้งปิดผิวด้วยกระจก จนได้โดมกระจกที่แข็งแรง สวยงาม และใช้งานได้จริง

  1. Jewel Changi Airport / Safdie Architects  Singapore 2019

(เครดิตภาพ Safdie Architects)

‘เมืองในสวน’ คือแนวความคิดหลักของการออกแบบพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเทอร์มินอลของสนามบิน Changi เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของพื้นที่สนามบินในฐานะศูนย์กลางการต้อนรับแขกผู้มาเยือนก่อนเข้าสู่เมือง

Jewel แห่งนี้ผสมผสานสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ค้าขายที่มีผู้คนคลาคล่ำและสวนสวรรค์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานพื้นที่แสนวิเศษให้กับผู้ใช้งานภายใต้โครงสร้างรูปเรขาคณิตของหลังคาโดมในรูปทรง Toroidal กึ่งคว่ำ ด้วยความยาวสแปนสูงสุดที่ 200 เมตร และการคำนวณในทางคณิตศาสตร์ ทำให้โดมแห่งนี้ปราศจากเสาภายใน และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ให้กับสิงคโปร์

  1. CDB Bank & Minsheng Bank Financial Building / ZHUBO DESIGN  SHENZHEN CHINA , 2019

(เครดิตภาพ Yu BaiZhe Zeng)

ในย่านธุรกิจของ Shenzhen มีการแข่งขันของดีไซน์อาคารสูงมากมาย และอาคารแห่งนี้เลือกใช้กลยุทธ์ทางการออกแบบที่ว่า “ถอยเพื่อก้าวหน้า” ท่ามกลางเส้นสายตั้งตรงของอาคารในเมือง อาคารส่วนฐานสร้างสรรค์รูปลักษณ์ด้วยทรงโค้งที่โดดเด่นสะดุดตา และเป็นจุดสังเกตของผู้คนที่สัญจรใช้ชีวิตกลางเมือง

โดมแก้วทรงสูงในส่วนฐานอาคาร ดึงเอาเส้นโค้งมาใช้งานกับทุกมิติทั้งในทางระนาบและทางตั้ง ผ่านทางการใช้งานโครงสร้างเหล็กทอดยาวไปถึงสกายไลต์ของหลังคาโดม ด้วยข้อเด่นที่ความโค้งในทุกระนาบเช่นนี้ สร้างปรากฏการณ์ให้กับแสงแดดที่สะท้อนผ่านเค้ามาสร้างมิติของแสงและเงาราวกับคริสตัลที่วาววับ ซึ่งไม่เกิดขึ้นกับอาคารระนาบตรงเช่นปกติ อีกทั้งโถงที่เปิดโล่งเช่นนี้ ยังเป็นทั้งโถงของอาคาร และห้องโถงร่วมสำหรับคนทั้งเมืองอย่างแท้จริง

ไอเดียจากประเทศไทย

  1. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ / Jahn 2006

(เครดิตภาพ Rainer Viertlboeck)

เพราะเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศที่ต้อนรับนักเดินทางกว่า 120 ล้านคนต่อปี อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแห่งนี้จึงต้องวางแผนให้ทุกพื้นที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกทั้งกับผู้คนและการจราจรทางอากาศ

ในงานโครงสร้าง สถาปัตยกรรมทั้งหมดเลือกใช้โครงสร้างตาข่ายหลังคาขนาดยักษ์ทรงโค้งวางเหนืออาคารกระจก โดยหลังคารองรับด้วยเสาเหล็กรูปเฟรมและคานกลางยาว 126 เมตรกับปลายคานยื่นสองข้างยาว 42 เมตร ซึ่งผ่านการคำนวณทางเรขาคณิต เปิดพื้นที่ภายในให้โล่งปราศจากเสา ใช้งานได้เต็มพื้นที่ จากข้อดีของความโปร่งแสงของหลังคาจะช่วยกรองแสงสว่างและรังสีความร้อน แต่ยังคงใช้งานแสงสว่างจากธรรมชาติภายในอาคารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ท่อเหล็ก Steel Pipe และบริการจาก Pacific Pipe

ผลิตภัณฑ์ท่อเหล็ก Steel Pipe มาพร้อมกับบริการจาก Pacific Pipe ยืนยันด้วยระยะเวลากว่า 50 ปี กับสินค้าและบริการด้านเหล็กแบบครบวงจร 

ด้วยสินค้าท่อเหล็กที่มีให้เลือกใช้งานครอบคลุมทุกประเภทความต้องการทั้งงานท่อและงานโครงสร้าง รวมทั้งบริการที่พัฒนาระบบการก่อสร้างมิติใหม่ที่มาตรฐานและความสวยงามมาพร้อมกับความรวดเร็วและสะดวกสบาย โดยการควบคุมการผลิตและตรวจสอบโดยวิศวกรผู้ชำนาญการ เพื่อการใช้งานท่อเหล็กที่สมบูรณ์แบบตลอดอายุการใช้งาน

ดาวน์โหลด Object ของ PACIFIC PIPE ที่ BIMobject ได้ที่นี่