จากความหลงใหลในวัยเรียน สู่บทบาทการเป็นป๋าดัน BIM ในองค์กรใหญ่ระดับประเทศ

เชื่อว่าในแวดวงคนทำ BIM ต้องเคยได้ยินชื่อ ป็อป – พงศ์พันธ์ สุธิชัย สถาปนิกไฟแรงจากรั้วธรรมศาสตร์ ดีกรีปริญญาโท Computer Aided Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บุกเบิกและมีส่วนผลักดันการใช้งาน BIM ในประเทศไทย ผ่านการร่วมก่อตั้ง BIM Club Thailand และหนึ่งในทีม Young Blood BIM ของ CPAC บริษัทในเครือเอสซีจี (SCG)

ด้วยความชื่นชอบเทคโนโลยีตั้งแต่เด็กๆ บวกกับคำถามในใจว่าจะลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนลงได้ยังไง จึงทำให้เทคโนโลยีกับการทำงานมาร่วมร่างออกมาเป็นพี่ป็อป พวกเรามีพี่ป็อปเป็นกูรูเวลาต้องการคำตอบเรื่องเทคโนโลยี ตั้งแต่การเลือกซื้อ Gadget หรือ Device ใหม่ๆ เปิดคอมไม่ได้ ลืมรหัสผ่าน รวมไปถึงเรื่องที่เข้าใจยากๆเกี่ยวกับ BIM (Building Information Modeling) ต่อไปนี้คือเรื่องราวของพี่ป็อปที่จะทำให้คุณรู้จักผู้ชายคนนี้มากยิ่งขึ้น รับรองว่าคุณไม่เคยได้อ่านที่ไหนมาก่อน

เรารู้จักพี่ในฐานะสตีฟป็อป ผู้คลั่งไคล้เทคโนโลยี อะไรทำให้พี่สนใจสิ่งพวกนี้

เวลาว่างพี่ชอบท่องเว็บ ทำอะไรตามเรื่อง ตามข่าวสารเทคโนโลยี เป็นคนสนใจเทคโนโลยี มันสนุกดี ชอบอ่าน แบบว่าเวลาตามอ่านตามดูเทคโนโลยีมันเหมือนกับได้เห็นว่าคนอื่นเขาคิดอะไรอยู่ มันได้คิดต่อนะ สมมติเขาทำแบบนี้เราก็จะได้คิดว่าเขาทำอะไรอยู่ ทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น จริงๆพี่ว่าสถาปนิก ส่วนใหญ่ก็สนใจเทคโนโลยีกันหมดแหละ ทุกคนสนใจกันอยู่แล้ว อาจจะเป็นมุมต่างๆกัน แต่จะเอามาใช้กับการทำงานหรือเปล่านั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พี่เอามาใช้ในการทำงานด้วยแค่นั้นเอง

แล้วอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่พี่คิดว่าต้องเอา “เทคโนโลยี” มาใช้กับ “การทำงาน”

จุดเริ่มต้นมาจากเคยทำมาสมัยทำงานแรกๆ พีรู้สึกว่า “เอ๊ะ ทำไมต้องมาทำงานซ้ำซ้อนด้วยวะ” ถ้าเขียนแบบ 2D เสร็จแล้วต้องมาทำ 3D ต่อ สลับไปมาเพื่ออะไร? ต้องมาแก้ 2-3 ไฟล์ ต่อเพื่ออะไร? ทำไมทำแบบเสร็จแล้ว ต้องมานั่งแก้ให้ตรงกันด้วย? รู้สึกว่าเป็นงานเพิ่ม ก็เลยเริ่มศึกษา BIM พี่เชื่อว่าทุกวันนี้คนที่ทำ BIM ส่วนใหญ่เพราะเขารู้สึกว่าจะทำยังไงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อะไรที่ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น

สมัยที่ศึกษาเรื่อง BIM ตอนนั้นมันยากมั้ย เข้าใจว่าอะไรๆก็ยังไม่แพร่หลาย

“สมัยพี่ เรื่อง BIM คือต้องเนิร์ดมากๆถึงจะรู้” ตั้งแต่สมัยพี่เรียนปริญญาโทก็ 10 กว่าปีได้แล้ว ตั้งแต่ปี 2550 สมัยนั้นมีอินเทอร์เน็ตแล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย วิธีที่พี่ศึกษามันจะไม่เหมือนสมัยนี้ที่ดู YouTube มีคนนู้นคนนี้มาสอนมากมาย พี่ต้องเปิดดูจาก Tutorial จาก How to step 1 2 3 คือเปิดคู่มือ Manual อ่านเลย ซึ่งความหลากหลายมันน้อยกว่า ดูได้จาก Tutorial อย่างเดียว เดี๋ยวนี้ความรู้มันหาง่ายขึ้น ขึ้นกับใครอยากรู้ มีให้ติดตามช่องต่างๆ หรือถ้าขี้เกียจก็ซื้อคอร์ส สมัยพี่ Revit คืออะไร ไม่มีใครรู้จัก บิม เบิม คืออะไร ไม่มีหรอก (หัวเราะ)

แล้วพอเอา BIM มาใช้จริง มีผลงานไหนที่ขึ้นหิ้งและคิดว่าเป็นตำนานของพงศ์พันธ์บ้าง

งานทั่วๆไปก็เช็คแคลช (ความขัดแย้งในแบบก่อสร้าง : Clash Detection) นะโครงการต่างๆ เล็กใหญ่ต่างกันไป อันนี้มีประโยชน์คือไม่ต้องไปแก้หน้างาน แต่ถ้าพูดถึง Legendary จริงๆ เป็นงานเมื่อเป็น 10 ปีมาแล้ว สำหรับพี่ คือพี่ออกแบบ Workflow เพื่อเอาไปทำ Object ใช้เป็น Library ให้เอสซีจีไฮม์ (SCG HEIM) แน่นอนพอขึ้นชื่อเอสซีจีไฮม์ มาตรฐานญี่ปุ่นต้องมา ต้องเป๊ะ ต้องมีมาตรฐานในแต่ละ Module ซึ่งที่มามันมาจากว่าพี่ๆในเอสซีจีไฮม์อยากได้ Modular ในการทำงาน เนื่องจากเอสซีจีไฮม์มีขั้นตอนที่ซับซ้อน และมีข้อกำหนดที่ตายตัว ยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะ ความยากคือสมมติขนาด 143mm เอามาประกอบกัน มันดีเทลขนาดนี้เลย ถ้าให้คนเขียนแบบทั่วไปเขียน ก็จะผิดพลาดแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ ถ้าใส่เลขผิดข้อผิดผลาดก็จะทดไปเรื่อยๆ จนหาสาเหตุได้ยาก

สิ่งที่พี่ทำเลย คือสร้าง Object Library แล้วล็อคระยะต่างๆ ไว้ พี่ต้องไปแกะ Catalogue ทำ Object จัดหน้ากระดาษ คุยกับโรงงาน คุยกับทีมเขียนแบบ โอ๊ย คุยหมดแทบทุกฝ่าย แต่มันก็พิสูจน์นะว่าทำได้จริง คือทุกวันนี้เขายังทำอยู่เลย ยังใช้งานอยู่เลย แปลว่ามันพิสูจน์แล้วว่ามันโอเค ทำ Library สำหรับบ้านเอสซีจีไฮม์ เหมือนเราเล่นใน The Sims เลย มันจัดกริดไว้หมด ตามมาตรฐานที่เอสซีจีไฮม์กำหนด ไม่มีทางวางผิด มันไกด์ให้เลย

ในความคิดพี่ BIM คืออะไรกันแน่ แล้วถ้าอยากให้คนในวงการมาทำ BIM เยอะๆควรจะทำยังไง

อยากให้มอง BIM เป็นพื้นฐานมากกว่า มันไม่ใช่แค่โปรแกรมว่าทำงานด้วยโปรแกรมนี้ โปรแกรมนี้ “มันเป็นกระบวนการทำงานแบบ BIM มากกว่า” ถ้าอยากให้คนมาใช้ BIM เยอะๆหรอ พี่ว่าอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่หมดเลย

ถ้าเป็นแบบปัจจุบันนี้ สถาปนิกจะคิดว่าทำแบบเสร็จ ก็จบงานตัวเอง ที่เหลือไปเคลียร์เอาเอง ผู้รับเหมาไปเคลียร์ต่อนะ แต่พี่คิดว่ามันไม่ถูกต้อง มันเหมือนเราส่งงานมีตำหนิ หรืองานไม่ถูกต้องให้คนอื่นต่อ ส่งแบบให้ แต่ว่าไม่ตรวจว่าสามารถสร้างได้จริงมั้ย ไม่รับประกันว่าจะเขียนแบบขัดแย้งนะ คำถามคือ มันคือหน้าที่สถาปนิกหรือเปล่าที่ต้องเขียนแบบที่ถูกต้องก่อนจะส่งให้คนอื่น

ฟังดูมันเป็นเหมือนมาตรฐานใหม่ในการทำงาน กระบวนการคิดใหม่ แต่ก่อนสถาปนิกอาจจะชอบคิดว่างานเราเท่านี้ เสร็จ ส่ง แล้วอาจจะเป็นวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยโบราณ (หัวเราะ) ที่มีคนกำหนดของเขตงานของสถาปนิกมาว่าสถาปนิกทำแบบนี้ แต่รู้มั้ย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะ ต่างประเทศขอบเขตงานสถาปนิกทำตั้งแต่เขียนแบบก่อสร้าง ไปจนถึงทำ Shop Drawing เองได้ แต่ในไทย สถาปนิกทำ แบบก่อสร้างแล้วให้ผู้รับเหมาไปทำต่อ พอจะให้ไปทำเพิ่มก็ถือว่าเกินหน้าที่ กลายเป็นฝังรากวัฒนธรรมสถาปนิกไปแล้ว แล้วมาโวยวายว่าสถาปนิกไทยรายได้น้อยกว่าต่างประเทศ

เช่นทำ BIM เจอจุดขัดแย้งในแบบ สร้างเริงไม่ได้ เต็กก็ควรจะเป็นคนแก้ไข จะไปโยนให้คนสร้างจริงสร้างได้ยังไง การส่งมอบแบบควรเป็นการส่งมอบแบบที่เรียบร้อยแล้ว สามารถสร้างได้จริง ซึ่งในกระบวนการ BIM จะไม่มีเคสแบบนี้เกิดขึ้นเลย เพราะว่ามีการเคลียร์แบบจากใน BIM เสร็จหมดแล้ว แต่สถาปนิกไม่กล้าใช้ เพราะขี้เกียจทำ (หัวเราะ) อุปสรรคคือไม่อยากเรียนรู้ใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับใจ ถ้าคนเราอยากจะทำมันก็ทำ

แล้วมันต้องเริ่มจากไหนก่อน

คิดว่าต้องเริ่มจากเจ้าของก่อน เจ้าของเป็นคนได้ประโยชน์จาก BIM มากที่สุด รองลงมาก็ผู้รับเหมา แต่คนที่เห็นความสำคัญของ BIM คือ Modeler ต่อมาก็เป็น Project Management ก็เน้น 2 กลุ่มนี้ก่อน ทำให้ Modeler ทำงานง่ายขึ้น ส่วนสถาปนิกถ้าทำเป็นก็จะได้สื่อสารแบบออกมาได้ตรงตามที่ต้องการมากขึ้น เผลอๆอาจจะเคลียร์ได้เองด้วยซ้ำ ขึ้นแบบใน BIM อาจจะได้เห็นสเปซที่พิเศษมากกว่าเดิม จากปกติจะคิดในใจว่า Shape จะออกมาเป็นแบบนี้ แล้วลองปั้นๆ แต่ถ้าทำใน BIM ก็จะเห็นทุกอย่างไปพร้อมกันเลย

ฟังดูเหมือนว่าเรื่อง Mindset จะเป็นสิ่งสำคัญในการทำ BIM มากกว่าความรู้

ส่วนหนึ่งเลยนะ ต้องเริ่มจากบุคคล ทุกคนต้องรับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง สถาปนิกเราเขียนแบบไป ก็ต้องถูกสิ ต้องถูกต้อง ต้องสามารถสร้างได้จริง หรือคนอื่นทำงานต่อได้ ไม่มีปัญหาในการทำงาน เป็นจิตสำนึกเริ่มต้น ถ้าคิดแบบนี้ก็จะพัฒนาตัวเอง ว่าต้องทำ 3D เพราะอยากให้แบบออกมาสวย ออกมาดี ทุกอย่างต้องเริ่มจากอินเนอร์นะพี่ว่า (หัวเราะ) ผู้ออกแบบต้องคิดว่าการทำงานต้องมีมาตรฐาน ต้องรับผิดชอบ ถ้าทุกคนมีจิตสำนึกแบบนี้ก็จะหาวิธีการที่ทำให้งานออกมาดีมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ BIM จริงๆ การทำงานแบบนี้มันคุ้มค่า อยากให้เปิดใจลองทำดู มันไม่ได้เป็นสิ่งเสียหายที่จะทำ อยู่ที่ว่าจะกล้าทำหรือเปล่า

บางคนบอกว่า BIM เป็นแค่กระแส

พี่เห็นว่าการทำ BIM มันได้ประโยชน์กับตัวเราเอง ไม่ต้องเสียเวลาทำหลายรอบ อย่างที่เล่าไป ไม่ได้คิดจะตามกระแส สมมติพี่ทำงานแบบนี้แล้วมันเร็วขึ้น ก็ไม่จำเป็นว่าใครอะไรกับเราอยู่แล้ว และสิ่งที่พี่เชื่อเสมอคืออนาคตมันเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ซึ่งเราได้เห็นแล้วในยุคนี้