ภายในประเทศไทย

ปีนี้เป็นปีที่ BIM มีความเคลื่อนไหวแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ทั้งจากสมาคมวิชาชีพ สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการรัฐ หน่วยงานเอกชน ซึ่งก็น่ายินดีที่ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้มีข้อควรระวังหลายประการ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็น มีดังนี้

  • ความไม่เข้าใจของ Top Management

อย่างที่คนในวงการ BIM เข้าใจอยู่แล้วว่า BIM คือกระบวนการ แต่ Top Management ของหลายองค์กร ไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับ BIM จึงมีความเข้าใจอย่างผิวเผินว่า BIM เป็นเทคโนโลยี หรือ Software ดังนั้นการสั่งการ Top Down จึงเป็นการให้พนักงานเขียนแบบเข้าฝึกอบรม Software เพื่อเขียน 3D Model เพื่อ Clash Detection เท่านั้น โดยปล่อยอิสระให้ ผู้บริหารระดับกลาง ผู้จัดการโครงการ วิศวกรและสถาปนิก ยังทำงานในลักษณะเดิมๆ ผลที่ได้คือ กระบวนการทั้งหมดยังเป็น 2D เหมือนเดิม จึงไม่เกิดประโยชน์อื่นๆ ที่ควรได้จาก BIM เช่น การลดเวลา ต้นทุน ในการทำงาน การลดรอยต่อในการส่งต่อข้อมูล โดยสิ่งที่แย่ที่สุดในวิธีนี้คือ การทำงานที่ซ้ำซ้อนกันระหว่าง 2D และ 3D และบ่อยครั้งที่มีข้อมูลขัดแย้งกัน (ซึ่งตรงนี้มักจะบ่งชี้ว่า BIM คือต้นทุนทางการเงินในองค์กรที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์) จะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารองค์กรต้องเข้าใจกระบวนการทำงาน BIM อย่างลึกซึ้งเพื่อนำมาสร้างคุณค่าให้กับการทำงานในองค์กร มากกว่าที่จะทำ BIM ตามกระแส

  • ความไม่เข้าใจของระดับปฏิบัติการ

ต่อเนื่องจากคำสั่ง Top Down มาโดยขาดความเข้าใจ และระดับปฏิบัติการก็ไม่เข้าใจในกระบวนการ BIM เช่นกัน จึงก่อให้เกิดการทำ BIM แปลกๆ เช่น การจัดทำคู่มือแสดงการเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า ในรูปแบบของเอกสารหลายร้อยหน้า ซึ่งในความเป็นจริงนั้น หากผู้ใช้งานต้องการทราบการเชื่อมต่อของวงจร ก็สามารถตรวจสอบจาก BIM Model ได้โดยตรงอยู่แล่้ว

  • การกำหนดว่า BIM คือ Software ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น

เรื่องนี้ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องเรื่องนี้ไปแล้ว เกี่ยวกับ OpenBIM แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก

  • แล้วองค์กรของเราควรทำอย่างไร

หากองค์กรของท่านเพิ่งเริ่มต้นนำกระบวนการ BIM มาใช้ โดยที่ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญ อาจติดต่อสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวกับ BIM เช่น สมาคม TBIM https://tbim.or.th/ ให้ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงการค้นคว้าข้อมูลจากต่างประเทศ หลากช่องทาง เช่น Linkedin บทความทางวิชาการ นิตยสารเช่น AEC Magazine https://aecmag.com/ เป็นต้น เพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสาร

 

ต่างประเทศ

ท่ามกลางกระแส ESG (Environmental, social, and governance) ก็มี การกล่าวถึงการนำ BIM มาประยุกต์ใช้กับการคำนวณค่า Carbon ของอาคาร กล่าวคือหากท่านผู้อ่านคุ้นเคยกับ BIM อยู่แล้ว อาจทราบว่า BIM สามารถถอดปริมาณงาน (Quantity Takeoff) ได้สะดวกรวดเร็วหากมีการวางแผนที่ดี นอกจากนี้หากมีการคำนวณปริมาณคาร์บอนต่อยูนิตของวัสดุก่อสร้าง ทั้งในขั้นตอนการผลิต ก่อสร้าง และช่วงให้บริการของอาคาร ก็ทำให้สามารถคำนวณปริมาณของ Carbon ของทั้งวงจรชีวิต (Life Cycle) ของโครงการนั้นๆ ได้ ซึ่งแนวทางคำนวณปริมาณ Carbon นั้น ผู้เชี่ยวชาญบางท่านอาจเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี BIM ก็สามารถทำได้ แต่จากการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ BIM หลายๆ องค์กร พบว่าหากใช้ BIM เป็นฐานของการคำนวณ Carbon นั้น จะสามารถคำนวณได้ แม่นยำ รวดเร็ว แสดงให้เห็นได้ชัดว่าการลดปริมาณ Carbon สามารถทำได้ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ

ดังตัวอย่างต่อไปนี้

Visualising Carbon: BIM to Zero

เป็นบันทึกงานสัมมนาออนไลน์ที่มีการนำ BIM มาใช้ในการคำนวณค่า Carbon ตลอดอายุการใช้งานของอาคาร โดยมีการพัฒนาเครื่องมือเช่นซอฟท์แวร์ต่างๆ มารองรับ BIM Model เพื่อให้แน่ใจได้ว่าผลการวิเคราะห์สามารถทำได้รวดเร็วและสามารถทดลองเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างเป็นชนิดต่างๆ ได้ดังที่ต้องการเพื่อคำนวณการลดปริมาณ Carbon ให้ต่ำลงที่สุด

แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะพัฒนาโดยบริษัทซอฟท์แวร์ในต่างประเทศ (3D Repo) แต่ก็สามารถนำมาใช้ในไทยได้ โดยในอนาคต น่าจะสร้างให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น การออกแบบอาคาร Carbon ต่ำที่สามารถรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ,

ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างสามารถติดฉลากปริมาณ Carbon รวมถึงบรรจุข้อมูล Carbon ลงใน BIM Object เพื่อให้ผู้ออกแบบสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ทันที

 

Embodied carbon: the importance of data

(จากนิตยสาร AEC Magazine July/August 2022, https://aecmag.com/magazines/)

บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร AEC Magazine ซึ่งเป็นเหมือนสังคม BIM ในยุโรป ได้มีการพูดถึงว่า ระบบข้อมูลสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญมากในการลดปริมาณ Carbon หากว่าผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างได้แสดงข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้วนั้น ระบบ Digital ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะสามารถดำเนินต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบ Digital ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกเรียกว่า “nice to have” อีกต่อไปเพราะจะสามารถสร้างประโยชน์ได้ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่อง Carbon Footprint ที่การทำงานในรูปแบบเดิมสามารถทำได้เพียงผิวเผินเท่านั้น

นอกจากนี้ในนิตยสารเล่มดังกล่าวยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย เช่น Software เกี่ยวกับ BIM ที่ใช้ในยุโรป เพื่อการออกแบบ ก่อสร้าง สำรวจ รวมถึงการบูรณาการกับ GIS ซึ่งซอฟท์แวร์ดังกล่าวอาจไม่แพร่หลายในไทยแต่ก็แสดงให้เห็นว่าอะไรที่ไม่ได้แพร่หลายในไทยก็เป็นสิ่งที่องค์กรอีกฟากของโลกนิยมใช้งานในระดับสูงได้ นอกจากนี้ยังมีจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มสถาปนิกในสหราชอาณาจักร และกลุ่มประเทศสแกนดิเนียเวีย เกี่ยวกับ BIM Software ซึ่งน่าจะเป็นการเปิดโลกทรรศน์ของกลุ่มคนทำ BIM ในไทยได้