BIMspaces ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC บริษัทเพื่อนบ้านรั้วติดกันย่านพระราม 7

มากกว่าทฤษฎีคือการลงลึกปฏิบัติจริง

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (วทอ) เป็นส่วนงานระดับคณะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB) เกิดจากความมุ่งมั่นในปรัชญาที่จะผลิตวิศวกรและนักเทคโนโลยีเฉพาะทาง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับนานาชาติ และปณิธานที่จะมุ่งมั่นสร้างบัณฑิตเฉพาะทาง และนวัตกรที่มีคุณธรรม คู่คุณภาพ ปัจจุบันวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมีหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต (อส.บ) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ) หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (วศ.ม) และหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต (วท.ม)

ดร.สมิตร อธิบายให้เรากระจ่างเกี่ยวกับคำถามที่หลายๆคนคงสงสัยว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมนั้นเรียนเกี่ยวกับอะไร และแตกต่างอย่างไรกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เรารู้จักกัน

“ปรัชญาของวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คือ เน้นเรื่องการปฏิบัติได้จริง คิดเป็นทำเป็น ดังนั้นที่นี่เราจะออกแบบหลักสูตรหน่วยกิตให้ลงลึกเชิงปฏิบัติมากขึ้น และเราผลิตบัณฑิตที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นวิศวกรรมจะแบ่งเป็น Solid Machanic และ Turbo Dynamic ของเราจะแยกสาขาออกมา นักศึกษาที่จบเครื่องกลก็จะเน้น Turbo Dynamics มากกว่า Solid Machanic”

ความว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลง คือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ

สิ่งหนึ่งที่ ดร.สมิตร ในฐานะอาจารย์พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น คือการทำให้สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตให้เท่าทันกับตลาดแรงงาน ดร.สมิตรเล่าว่า

“ในอดีตสถาบันการศึกษาจะไล่หลังอุตสาหกรรมเสมอ สถาบันการศึกษามักโดนต่อว่าว่า เด็กจบมาทำงานไม่ได้เลย ทำไมเด็กจบออกมาทำงานไม่ได้ สาเหตุเป็นเพราะความว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ในปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สมัยผมมันไม่เปลี่ยน ความรู้ที่เรียนมามันสามารถใช้ต่อได้อีก 10-20 ปี แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไวกว่าแต่ก่อนเยอะ หน้าที่ของเราคือต้องเสริมสร้างความว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลงให้กับนักศึกษาของเรา”

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ตอนที่เริ่มมี Autocad 1.0 ที่เป็นเวอร์ชันแรก ใช้เวลานานมากกว่าคนที่เขียนแบบด้วยมือจะเปลี่ยนเขียนด้วย Autocad สาเหตุเพราะซอฟต์แวร์มันโอเค แต่ฮาร์ดแวร์มันยังไม่พร้อม สมัยนั้นการเขียนแบบบ้านหลังนึงเขียนช้ากว่าด้วยมือ ความสะดวกมันยังไม่มีในช่วงนั้น ต่างกับปัจจุบันที่ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์มันไปด้วยกัน การถูกทดแทนด้วย Digital Age มันทำได้ไวมากกว่า”

“บวกกับรุ่นน้อง นักศึกษาปัจจุบันคิดเป็นทำเป็น หัวไว มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและดิจิทัลอยู่แล้ว ยิ่งเสริมกันไปได้ไกลเข้าไปใหญ่”

“อีกอย่างเรื่อง Digital Age ที่เข้ามาในงานวิศวกรรมมันมีมานานแล้ว อย่าง BIM เน้นหนักในเรื่องอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น ตึก ระบบ ที่อยู่ในอาคารก่อสร้าง ถ้าเป็นวิศกรรมยานยนต์หรือเครื่องกลอื่นๆ ก็มีเครื่องมือที่เป็น Digital age ของเขาที่เข้ามาช่วยเรื่องการออกแบบอยู่แล้ว เราอยากเน้นสร้างความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ผลิตบัณฑิตให้เท่าทันกับอุตสาหกรรมในปัจจุบัน”

บทบาทของสถาบันการศึกษาในการซัพพอร์ทอุตสาหกรรม

ดร.สมิตร เล่าให้ฟังเราฟังต่อถึงวิวัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา “อุตสาหกรรมเป็นตัว Drive การศึกษาเสมอ ไม่มีทางเลยที่การศึกษาจะเริ่มก่อน อุตสาหกรรมสมัยใหม่ปรับตัวไปในทิศทางไหนก็จะต้องการคนที่มีความสามารถในลักษณะนั้นมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรม เข้ามาฉุดภาคการศึกษา” ดร.สมิตรยกตัวอย่างให้เห็นต่อไปว่าหลายๆอุตสาหกรรมเช่น ยานยนต์ หรืออวกาศ ก็ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นให้การศึกษาผลิตบุคลากรให้ตอบโจทย์เช่นเดียวกัน

กลับมาที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างกับ เรื่อง Building Information Modeling หรือ BIM กันบ้าง

“BIM ไม่เรียกว่าช้าและเร็ว ยังไม่เชิงสายเกินไป มันยังมีความต้องการในตลาดอย่างมาก ความร่วมมือกับ CPAC ถือว่าเข้ามาได้ทันท่วงทีพอดี เพื่อให้ภาคการศึกษาผลิตคน ผลิตวิศวกรที่นอกจากจะมีความรู้เชิงวิศวกรรมแล้ว ยังต้องให้จบไปพร้อมใช้งานได้เลย”

หลักสูตร BIM กับสถาบันการศึกษา

เมื่อภาคอุตสาหกรรมขยับตัวเข้าใกล้กับภาคการศึกษามากยิ่งขึ้น แล้วหลักสูตรการเรียนในปัจจุบันต้องปรับปรุงหรือออกแบบให้รองรับอย่างไร ดร.สมิตร อัพเดทแนวทางการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางที่กำลังจะเกิดขึ้นไว้อย่างน่าสนใจและชวนให้ติดตาม “หลังจากนี้ต้องเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ที่ต้องทำให้การเรียนรู้เรื่อง BIM เป็น A Must คือต้องรู้ก่อนจะสำเร็จการศึกษา CPAC ยื่นมาเข้าช่วยเรา แต่เป็นหน้าที่ของฝั่งการศึกษาที่ต้องทำให้ Sustain นักศึกษาต้องรู้ก่อนเข้าไปทำงานข้างนอก”

“หลักสูตรปัจจุบัน พ.ศ. 2560-2564 ยังเป็นน Autocad 2 มิติอยู่ ทาง วสท. ก็ตั้งกรรมการมาชุดนึง เข้ามาร่วมร่างหลักสูตรกลางเพื่อให้วิศวกรรมโยธา ไฟฟ้า เครื่องกล และอุตสาหการ พร้อมพัฒนานิสิต นักศึกษาให้รู้จักกับดิจิทัลมากขึ้น มั่นใจว่า BIM จะถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรมาตรฐาน ขั้นต่ำนิสิต นักศึกษาต้องเรียนรู้อะไรบ้างเรื่อง BIM จากปัจจุบันที่มีไม่กี่ที่ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี บรรจุเป็นหลักสูตร”

เปลี่ยนโจทย์บนกระดานดำเป็นโจทย์จากภาคอุตสาหกกรม

ดร.สมิตรปิดท้ายถึงแนวทางการต่อยอดความร่วมมือในอนาคต ว่าอยากเห็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ CPAC เป็นอย่างไรต่อไป

“จริงๆผมมีไอเดียที่คิดไว้เรื่องนึง ต้องบอกว่าความต้องการที่ต้องการบุคลากรเรื่อง BIM มันมีหลาย Level วิศวกรมจำเป็นในระดับนึง แต่จริงๆแล้วความต้องการในระดับที่ต่ำลง เช่น Technician ยังมีอยู่เยอะมาก และที่สำคัญคือมันไม่มีใครผลิต ปวช. ปวส. มันหายไปอย่างวูบวาบเลย ตลาดแรงงานตอนนี้มันขาดไป”

“อยากชวนมาจับมือกัน พัฒนาน้องๆที่เป็น ปวช. ก่อสร้าง ที่พอรู้หลักวิธีการก่อสร้าง เคยเห็นงานสนาม เคยเห็นท่อ เคยเห็นสายไฟ แล้วมาเรียน BIM ซัก 6-12 เดือน พอใช้งานได้ ก็สามารถผลักดันน้องๆเข้าสู่ระดับปฏิบัติงานได้ อยากเพิ่มฝึกอาชีพที่ต่ำกว่าปริญญาตรี ผมเชื่อว่ายังขาดบุคลากรอยู่มาก”

นอกจากนี้ ดร.สมิตร ยังอยากเห็นความร่วมมือที่ครบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมากขึ้น

“ต้นน้ำ เรื่องของการพัฒนาการศึกษา แน่นอนว่าอะไรที่เป็นของใหม่ มักมีราคาแพง มีต้นทุนที่สูง เราอยากร่วมมือกับ CPAC ถ้ามี lab ให้นักศึกษาได้เข้าไปใช้ เข้าไปรู้จัก เพื่อให้เด็กมีความตื่นตัว เปิดโลกทัศน์”

“กลางน้ำ อยากให้ CPAC ส่งงานจากอุตสาหกกรมเข้ามา Challenge พวกเรา อาจจะเป็นตัวอย่าง เป็นโจทย์จากอุตสาหกรรมให้นักศึกษาลองทำงานดูสิ เพื่อให้นักศึกษาใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมมากขึ้น โจทย์บนกระดานดำ มันไม่เห็นภาพเท่าโจทย์มาจากอุตสากรรม หรือสมัยก่อนที่มีคอนกรีตพลังช้าง จัดแคมป์พวกนี้บ้าง เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้กับนักศึกษา”

“ส่วนหนึ่งที่พัฒนา BIMobject ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มให้ดาวน์โหลด Object ก็เป็นประโยชน์มาก ต่อไปเราสอนนักศึกษาก็บอกเขาได้ว่าไม่จำเป็นต้องเขียนเส้นขึ้นมาเอง สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้เลย อันนี้เป็นปลายน้ำ” ดร.สมิตรทิ้งท้าย