จากบทความก่อนหน้าที่เราอธิบายถึงเรื่องหลักการหรือหัวใจสำคัญของการบริการจัดการโครงการ (Project Management) โดยครั้งที่แล้ว เราอธิบายถึง แกนที่ 1 เป็นเรื่องของเวลา (Project Time) ว่ามีความหมายและความสำคัญอย่างไร และในครั้งนี้ เราจะมาอธิบายถึง แกนที่ 2 เป็นเรื่องของคุณภาพ (Project Quality)

แกนที่ 2 เป็นเรื่องของคุณภาพ (Quality)

เป็นขั้นตอนของการควบคุมคุณภาพการดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • คุณภาพในเรื่องของกฎหมายอาคาร
  • คุณภาพในเรื่องของการออกแบบ
  • คุณภาพในเรื่องของการก่อสร้าง
  • คุณภาพในเรื่องของการใช้และดูแลรักษาอาคาร

คุณภาพในเรื่องของกฎหมายอาคาร เป็นข้อบังคับของการจัดทำโครงการที่บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม

ในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ โดยขอยกตัวอย่างที่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งจะมีขอบังคับในการควบคุมเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • การสถาปัตยกรรม ความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย
  • ความมั่งคงแข็งแรงของอาคาร
  • ความปลอดภัยของผู้อาศัยหรือใช้อาคาร
  • การป้องกันอัคคีภัยภายในอาคาร
  • การสาธารณสุขและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  • การอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ฯลฯ

คุณภาพในเรื่องของการออกแบบ เป็นข้อกำหนดในส่วนของรายละเอียดในการออกแบบ ในแต่ละโครงการ

ซึ่งข้อกำหนดในส่วนนี้จะไม่เหมือนกันในแต่ละโครงการ โดยจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละวัตถุประสงค์/เป้าหมายของโครงการ รวมถึงตามความหลากหลายของประเภทอาคารอีกด้วย โดยผู้พัฒนาโครงการให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบ ภายใต้แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม ให้คนสามารถอยู่ได้โดยใช้พลังงานจากธรรมชาติให้น้อยที่สุด หลักการออกแบบนี้คือ สถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture) และสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน (Sustainable Architecture)

คุณภาพในเรื่องของการก่อสร้าง เป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในหมวดงานต่างๆ ดังนี้

  • หมวดงานวิศวกรรมเป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างต่างๆ เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับคอนกรีต เหล็กเสริมคอนกรีต ความแข็งแรงของโครงสร้าง เพื่อทำให้การก่อสร้างเป็นไปตามข้อกำหนด และมีความแข็งแรงปลอดภัยทั้งในระหว่างการก่อสร้างและหลังจากที่อยู่อาศัยไปแล้ว
  • หมวดงานสถาปัตยกรรมเป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการใช้พื้นที่และการกำหนดความแข็งแรงของอาคาร ทำให้สามารถใช้งานอาคารนั้นได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย
  • หมวดงานด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง โดยทั่วไปในการก่อสร้าง จะมีการใช้กำลังพล เครื่องมือ/อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรในการทำงาน อีกทั้งยังมีมลภาวะเรื่องฝุ่น และเสียง จากการก่อสร้าง ดังนั้นจึงต้องมี ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย มาควบคุมระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ทำงาน และผู้คนบริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้างโดยรอบ

คุณภาพในเรื่องของการใช้และดูแลรักษาอาคาร ในการใช้งานอาคาร

ผู้พัฒนามีความคาดหวังในเรื่องของระยะเวลาของการใช้งานอาคารให้อาคาร มีอายุการใช้งานได้นานที่สุด ดังนั้นข้อกำหนดเรื่องการใช้งานและดูแลรักษาอาคารจึงมีความสำคัญที่จะต้องให้ความรู้เรื่องของการดูแลรักษาอาคารให้กับเจ้าของอาคาร รวมถึงผู้ใช้งานอาคาร โดยการดูแลบำรุงรักษาอาคาร เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อยืดอายุการใข้งานของอาคาร โดยมีระบบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ระบบไฟฟ้า
  • ระบบปรับอากาศ
  • ระบบระบายอากาศ
  • ระบบสุขาภิบาล
  • ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย

ซึ่งเมื่อเรานำเรื่อง BIM (Building Information Management) ในฝั่งของการทำ Management มาประยุกต์รวมกันกับการควบคุมคุณภาพการดำเนินการโครงการ (Project Quality) จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้จากบทความเรื่อง BIM กับการสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการ ในตอนถัดๆ ไป

โดยสรุปแล้ว การควบคุมคุณภาพของโครงการ จะเป็นการควบคุมผลลัพธ์ของโครงการ

ซึ่งในแต่ละโครงการจะมีการใช้งานข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะ และประเภทของโครงการ ทั้งนี้อาจรวมถึงขนาดพื้นที่ของแต่ละโครงการอีกด้วย โดยการการใช้งานข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ และบรรลุตามวัตถุประสงค์เป้าหมายของโครงการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อควรระวัง การใช้งานข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ในโครงการเป็น หนึ่งในกิจกรรมที่ในแต่ละโครงการจะต้องดำเนินการ จึงต้องมีการหารือสรุปข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ตั้งแต่แรกในการดำเนินการโครงการ เพื่อให้ทุกคนรับทราบในแนวทางปฏิบัติ และใช้เป็นแนวทางในการทำงานในหน้าที่บทบาทความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจัดทำแผนงานการบริหารการดำเนินการโครงการ (Project Timeline)

ในครั้งต่อไปจะมาพูดถึงแกนสำคัญสุดท้าย ในหลักการหรือหัวใจสำคัญของการบริการจัดการโครงการ (Project Management) นั่นคือแกนที่ 3 เป็นเรื่องของต้นทุน (Project Cost)