ที่เขียนไปในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปจากบนความทางวิชาการและ White Paper (อ้างอิง (1) และ (2) ) ซึ่งหากผู้อ่านสนใจรายละเอียด สามารถเข้าไปอ่านได้ตามลิ้งค์ด้านล่าง โดยต่อจากนี้ผู้เขียนจะให้ความเห็นจากประสบการณ์โดยตรงดังนี้

BIM Model มีทั้ง Graphical Data และ Nongraphical Data เหมาะในการทำเป็น Data Hub

ในโลกของการบริหารจัดการทรัพย์สิน ข้อมูลทั้ง Graphical Data และ Nongraphical Data เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ บ่อยครั้งที่การบริหารงานผิดพลาดอันเนื่องมาจากข้อมูลทั้งสองส่วนถูกตัดขาดจากกัน ไม่สามารถยืนยันหรือค้นหาข้อมูลได้ ปัญหาดังกล่าวน่าจะลดลงหากมีการนำ BIM Model เข้ามาใช้บริหารทรัพย์สินโดยใช้เป็น Data Hub เช่นข้อมูลของเครื่องจักรสำคัญอย่าง Chiller ที่มีลักษณะเป็น BIM Model และสามารถฝังข้อมูลต่างๆ เข้าไปใน BIM Model ของ Chiller ตัวนั้นๆ ทั้งคู่มือ, ใบสั่งซื้อ, ประวัติการซ่อมบำรุง, ภาพถ่าย, ข้อมูลต่างๆในระบบบัญชี, ERP หรือ จัดซื้อ ได้โดยตรง ลดการผิดพลาดและความสับสนของข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งเห็นได้ชัดเจนหากทรัพย์สินดังกล่าวมีการใช้งานนานเกิน 10 ปีขึ้นไป บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้เจอข้อจำกัดของการทำงานแบบเดิม เช่น มีแฟ้มเอกสารจำนวนมากจนไม่รู้ว่าเก็บเอกสารที่ต้องการไว้ที่ไหน หรือบางองค์กรกำหนดว่าต้องทำลายเอกสารตามหลัก 5 ส. ทุกๆ 5 ปี ทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ไม่สามารถหาเอกสารที่จำเป็นมาใช้งานได้

สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ทั้ง 2 ทาง

เป็นอีกหนึ่งความสามารถสำคัญของ BIM Software ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ทั้ง 2 ทาง ซึ่งจำเป็นกับการบริหารทรัพย์สินที่มีอายุยาวหลายทศวรรษ เพราะทรัพย์สินมีโอกาศที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ต่างๆ เช่น

  • มีการเปลี่ยน Chiller ตัวใหม่ แทนที่ของเดิม กรณีนี้อาจไม่ต้องแก้ไข Graphical Data แต่เปลี่ยนค่า Attribute เช่น Serial Number, วันที่ติดตั้งอุปกรณ์ เป็นต้น
  • มีการเพิ่มจำนวน Chiller กรณีนี้ต้องแก้ไข Graphical Data ด้วยให้มีจำนวนตามจริง
  • Renovation อาจมีการย้าย Chiller ไปอยู่ที่อื่น กรณีนี้ต้องขยับโมเดลไปตามจริง ส่วนค่า Attribute อาจมีแก้ไขเพียง Functional Location เท่านั้น

รองรับเทคโนโลยีใหม่

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เชื่อมต่อกับ BIM ได้อย่างไร้รอยต่อ เช่น การทำแบบจำลองด้านความปลอดภัย (อัคคีภัยและการอพยพ), การวิเคราะห์ของไหล (CFD: Computational Fluid Dynamic), การวิเคราะห์ความแข็งแรงโครงสร้าง,​ การสำรวจด้วย Lidar, การสำรวจด้วย Concrete Scanner, การทำ AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality), การวิเคราะห์พลังงาน, การวิเคราะห์ Embodied Carbon เป็นต้น โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ส่วนใหญ่รองรับฟอร์แมตมาตรฐานของ BIM คือ ifc ได้อยู่แล้ว

สนับสนุนการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันหลายๆ อาคาร มีเครื่องจักรที่เป็น ioT อยู่แล้วและมาพร้อมกับระบบ Scada ทำให้ผู้จัดการอาคารมีความเข้าใจในอาคารมากขึ้นแม้ไม่มี BIM Model ก็ตาม อย่างไรก็ตามในบางองค์กรที่มีทรัพย์สินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ผู้บริหารระดับสูงอาจไม่เคยไปเยือนสถานที่ในต่างจังหวัดครบทุกแห่ง บางครั้งจึงยากที่จะนึกภาพของทรัพย์สินดังกล่าวออก การที่มี BIM Model + Scada อยู่ใน Platform เดียวกัน จะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจทรัพย์สินขององค์กรได้ดีขึ้น และสนับสนุนการตัดสินใจได้สะดวกขึ้น

จะเห็นได้ว่าความสามารถที่กล่าวมานั้น หากไม่มี BIM Model ก็ยากที่จะทำได้ ดังนั้นในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ควรกำหนดให้มีการส่งมอบ Asbuilt BIM Model จากผู้รับจ้าง เพื่อนำมาใช้เป็นฐานของ Digital Twin สำหรับการบริหารจัดการทรัพย์สินต่อไปในอนาคต

อ้างอิง

(1) Digital Twin in manufacturing: A categorical literature review and classification,Werner Kritzinger et al., IFAC-PapersOnLine

Volume 51, Issue 11, 2018, Pages 1016-1022

(2) AVEVA White Paper

https://www.aveva.com/content/dam/aveva/documents/white-papers/WhitePaper_AVEVA_EngineersWorkSmarterwithDT_22-08.pdf