ปัจจุบันงานก่อสร้างมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ความสำเร็จของโปรเจกต์ต้องอาศัยการร่วมมือกัน (Co-ordination) ระหว่างหลายฝ่าย จากทั้ง วิศวกรโครงสร้าง สถาปนิก นักออกแบบ ผู้รับเหมา รวมถึงซัพพลายเออร์ ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือข้อขัดแย้ง (Clash) ระหว่างแบบจำลอง บทความนี้จะพาไปดูประโยชน์ของการตรวจจับการปะทะในแบบจำลองข้อมูลอาคาร หรือ Clash Detection กันครับ

รู้จัก Clash Detection

Clash Detection คือการตรวจสอบข้อขัดแย้งหรือความผิดพลาดของแบบ 3 มิติ ก่อนการก่อสร้าง หัวใจของการตรวจสอบข้อขัดแย้งคือการปรับแบบจาก 2D มาเป็น 3D และรวมแบบสถาปัตย์กับแบบโครงสร้างเข้าด้วยกัน และระบุ (Identify) จุดที่แต่ละโมเดลขัดแย้ง (Clash) หรือเหลื่อมกัน (Overlap) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกจุดของแบบจำลองมีความสอดคล้องกัน (Compatible)

เราสามารถใช้ BIM เพื่อตรวจสอบ Clash Detection ได้ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ CPAC BIM ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ CPAC Green Solution ที่รวม Digital Construction Technology ไว้หลากหลาย ตั้งแต่ก่อนโครงการ ขณะก่อสร้าง และหลังจบโครงการ ซึ่ง Clash Detection นั้น จะอยู่ในช่วงก่อนโครงการ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบข้อขัดแย้งระหว่างงานโครงสร้าง งานสถาปัตย์ และงานระบบ ผ่านโมเดล ก่อนก่อสร้างจริง

ประโยชน์ 5 ข้อของการตรวจสอบ Clash ด้วย BIM

ข้อแรก: เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ประสิทธิภาพของโปรเจกต์ก่อสร้างขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบงานที่ตรงเวลาและคุณภาพของก่อการสร้าง การตรวจสอบข้อขัดแย้ง (Clash Detection) เป็นฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์มากของเทคโนโลยี BIM เพราะช่วยให้สถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างสามารถมองเห็นทั้งความสำเร็จและโอกาสผิดพลาดของงานตั้งแต่ต้น จึงเป็นการ Minimize ความขัดแย้งในไซต์งานก่อสร้าง (On-Site Conflict) ทำให้โครงการไม่ต้องหยุดชะงัก

ปัจจุบัน เทคโนโลยี BIM ถูกใช้ในการตรวจสอบข้อขัดแย้งในงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานโยธา สถาปัตย์ ไฟฟ้าเครื่องกล รวมถึงประปาสุขาภิบาล

ข้อสอง: ช่วยสถาปนิกทำงานให้เร็วขึ้น (Speeding Up)

การตรวจสอบการขัดแย้งด้วย BIM ทำให้การทำงานของนักออกแบบและสถาปนิกเร็วขึ้น สามารถส่งต่องานไปยังขั้นตอนต่อไปโดยไม่ต้องกังวลในเรื่องของข้อขัดแย้งในแบบก่อสร้าง นอกจากนั้น การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ (Aspect) ของงานออกแบบสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ผู้ออกแบบเห็นถึงผลลัพธ์ได้อย่างทันที ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าโปรเจกต์ก่อสร้างจะสำเร็จตามเวลาที่วางแผนไว้

ข้อสาม: ลดการปรับแก้งานออกแบบ (Fewer Iterations)

แม้ว่าการปรับแก้งานออกแบบ (Iteration) จะเป็นเรื่องธรรมดาของงานออกแบบ แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าจำนวนครั้งของการแก้ไขน้อยลง เมื่อนักออกแบบสามารถมองเห็นการปะทะระหว่างแบบจำลองตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ การแก้ไขงานออกแบบในขั้นตอนของการก่อสร้างย่อมน้อยลงโดยอัตโนมัติ ทำให้โครงการก่อสร้างดำเนินไปตามระยะเวลาที่กำหนดตามที่ได้วางแผนไว้

ตัวอย่างการ Combine แบบเพื่อเช็คแคลชในโปรเจกต์จริง

ข้อสี่: ประหยัดงบประมาณ (Cost saving)

หากไม่มีการตรวจจับข้อขัดแย้งระหว่างแบบจำลองตั้งแต่ต้น ผู้รับเหมาอาจตัดสินใจซื้อวัสดุเพื่อเริ่มก่อสร้างจริง การพบการปะทะในขั้นตอนของการก่อสร้างทำให้วัสดุเหลือใช้หรือถูกทำลาย ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น การแก้ไขขัดข้อแย้งตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบจึงช่วยประหยัดงบประมาณของโครงการก่อสร้าง

ข้อห้า: การทำงานประสานกันง่ายขึ้น (Better Co-ordination)

การตรวจสอบข้อขัดแย้งด้วยเทคโนโลยี BIM ช่วยส่งเสริมการทำงานระหว่าง Stakeholders ในโปรเจกต์ก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร นักออกแบบ รวมถึงผู้รับเหมา เนื่องจากเป็นการนำโมเดลของแต่ละฝ่ายมารวมกันและตรวจสอบการปะทะ กระบวนการทำงานนี้จึงเปรียบเสมือนการเรียก Stakeholders มาคุยกันเพื่อปรับความเข้าใจให้ไปในทิศทางเดียวกัน โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งในขั้นตอนการก่อสร้างจึงน้อยลง สามารถส่งมอบงานได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

จากประโยชน์ทั้ง 5 ข้อนี้ อาจกล่าวได้ว่า BIM Clash Detection เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับวงการก่อสร้าง ช่วยให้การทำงานของสถาปนิกและนักออกแบบง่ายขึ้นและยังทำให้โปรเจกต์ก่อสร้างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีคุณภาพ ประหยัดงบประมาณและประหยัดเวลา สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้คือนิยามของความสำเร็จของงานก่อสร้างที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี BIM