ประโยชน์ของท่อเหล็กที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นในการใช้งาน คือความแข็งแรงทนทาน สามารถใช้ในงานระบบและงานโครงสร้ง พร้อมกับรูปลักษณ์ที่สื่อสารถึงคาแรกเตอร์เรียบเท่และสุดล้ำในเวลาเดียวกัน 

เมื่อความสวยงามและฟังก์ชั่นของท่อเหล็ก มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ จึงได้ผลลัพธ์เป็นงานออกแบบที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากไอเดียของสถาปนิก และส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้ร่วมใช้งานสถานที่แห่งนั้นด้วยตัวเอง หรือแม้แต่คนที่ได้มองเห็นสถาปัตยกรรมเหล่านี้ผ่านทางภาพถ่ายเองก็ตาม เราจึงหยิบเอา 10 ไอเดียงานออกแบบจากท่อเหล็กทั่วโลกมาแนะนำให้คุณได้เห็นถึงศักยภาพของท่อเหล็ก ว่าสามารถสร้างงานสุดล้ำแบบนี้ได้อีกมากมาย

นอกจากนี้ Pacific Pipe ยังมี Steel Service Solutions และสำหรับนักออกแบบที่สนใจการใช้งานท่อเหล็กไปสร้างสรรค์งานออกแบบของตัวเอง สามารถดาวน์โหลด ได้ที่ BIMobject 

01 Solar Pine

Designer : HG-Architecture

Location : Incheon, South Korea

 

(ภาพโดย Kyungsub Shin)

งานอินสตอลเลชั่นที่ดึงเอาศักยภาพของแสงอาทิตย์มาสร้างมิติของการใช้ชีวิตผ่านทางแพทเทิร์นของเรขาคณิตที่ประกับกันขึ้นเป็นหลังคาทรงโดม พร้อมกับฟังก์ชั่นการเป็นแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตพลังงานสะอาดไว้ใช้งาน 

ตัวโครงสร้างประกอบขึ้นจากท่อเหล็กเป็นฐานราก แล้วค่อยติดตั้งท่อเหล็กทรงโค้งเป็นโครงสร้างรองรับหลังคาทั้งหมดพร้อมกับเป็นแบตเตอรี่สำหรับเก็บกักไฟฟ้าไปในตัว ตัวแผงหลังคาเองกรุอยู่บนท่อเหล็กรูปวงกลมและโครงสร้างเหล็กแบ่งกริดรูปข้าวหลามตัด ซึ่งกรุชั้นนอกสุดด้วยแผ่นโซลาร์ นับเป็นการใช้งานความงามของสถาปัตยกรรมสาธารณะร่วมกับฟังก์ชั่นเพื่อชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพ

02 Jay Pritzker Pavilion

Designer : Gehry Partners 

Location : Chicago, USA

 

(ภาพโดย Patrick Pyszka)

พื้นที่สาธารณะคือหัวใจของชุมชน เช่นเดียวกันกับที่สวนสาธารณะ Millennium Park แห่งนี้ที่สถาปนิกเนรมิตขึ้นเพื่อให้เป็นพาวิลเลียนแบบโอเพ่นแอร์ สำหรับใช้งานการแสดงดนตรีสำหรับผู้คน โดย Grant Park Symphony Orchestra 

ท่อเหล็กจึงกลายมาเป็นโครงสร้างหลังคาแบบโปร่งๆ ขนาด 600 x 300 ฟุต เพื่อเชื่อมต่อผู้คนที่นั่งชมดนตรีเข้ากับธรรมชาติที่รายล้อมอยู่รอบด้าน ท่อเหล็กดัดโค้งเกี่ยวประสานกันเป็นโครงหลังคาเพื่อโอบล้อมพื้นที่การแสดง ไปพร้อมๆ กับการเป็นไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับการแสดงในเวลากลางคืน และลำโพงขยายเสียงให้ได้ยินคุณภาพเสียงโดยรอบเท่ากันทั้งหมด

03 Expo Gate

Designer : Scandurrastudio Architettura

Location : Milano, Italy

 

(ภาพโดย Filippo Romano)

ด้วยบริบทรอบข้างที่เป็นอาคารเก่าแก่โบราณ งานออกแบบทางเข้าเอกซ์โปในครั้งนี้จึงต้องการสร้างความแตกต่างเป็นจุดสังเกตให้ผู้รับทราบ และเปลี่ยนผ่านความรู้สึกจากชุมชนภายนอก สู่งานเอกซ์โปที่จะจัดขึ้นภายใน

อาคารสีขาวประกอบขึ้นจากโครงสร้างท่อเหล็ก จัดวางเป็นกริดขนาดเท่าๆ กัน ไล่ลำดับเป็นอาคารรูปทรงสามเหลี่ยมสูงล้อไปกับสถาปัตยกรรมกอธิคด้านหลัง โจทย์สำคัญของงานออกแบบชิ้นนี้คือต้องการความยั่งยืนไปพร้อมกับประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง จึงเลือกใช้วัสดุพื้นฐานที่ทุกคนคุ้นเคย เข้าใจง่าย และสามารถนำกลับไปใช้งานต่อได้หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจตรงนี้แล้ว

04 Circular Amphitheatre

Designer : Nonetoten Design Lab

Location : Taichung, Taiwan

 

(ภาพโดย Te-Fang, Wang)

อาคารขนาดเล็กในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเติมสุนทรียะให้กับสวนที่สวยงามของโรงเรียน ไปพร้อมกับเพิ่มการใช้งานให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

อาคารโครงสร้างท่อเหล็กรูปวงกลมแห่งนี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่ทดลองประสบการณ์จากประสาทสัมผัสโดยเฉพาะกับมิติของเสียง การแสดงที่อยู่ภายในจะถูกถ่ายทอดผ่านทางผ้าใบโปร่งบาง ผู้ฟังจะได้ยินเพียงเสียงเท่านั้น นี่จึงเป็นเสมือนการสร้างสรรค์พื้นที่แสดงและสื่อสารในรูปแบบใหม่ ที่ทำให้เสียงได้แสดงพลังของตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ

05 Archeological Pavilion

Designer : kadawittfeldarchitektur

Location : Aachen, Germany

 

(ภาพ Jens Kirchner, Jörg Hempel)

อาคารศูนย์โบราณคดีที่ตั้งอยู่ใจกลางสวนสาธารณะกลางเมือง พื้นที่เก็บสะสมข้าวของทางประวัติศาสตร์ของเมือง Aachen ตั้งแต่ 4,700 ปีก่อนคริสตกาล ไปจนถึงยุคกลาง เป็นการบอกเล่าที่มาของเมืองสู่สาธารณชน

ในพื้นที่ 60 ตารางเมตรเป็นอาคารโปร่งจากโครงสร้างท่อเหล็กสองชั้นไขวักันและผนังกระจก เพื่อสร้างความเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน พร้อมกับเป็นการเปิดต้อนรับผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมเยือนพื้นที่แห่งนี้ได้แบบสบายใจ และยังเป็นเหมือนกับประติมากรรมใจกลางสวนไปด้วยในตัว

06 Zhulang Huagai

Designer : NADAAA + Cooper Union

Location : Shenzhen, China 

(ภาพ Nader Tehrani, UABB, Jeremy Son, Dongmei Yao, Yan Meng)

 

จากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว พาวิลเลียนกลางเมืองแห่งนี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้หยุดพัก และทำกิจกรรมภายในได้อย่างเป็นอิสระ

ความท้าทายของการทำงานครั้งนี้คือโจทย์ของการออกแบบที่จะต้องยืดหยุ่นให้กับกิจกรรมหรืออีเวนท์ที่หลากหลาย จึงเลือกใช้โครงสร้างท่อเหล็กสร้างแสปนให้เกิดพื้นที่ภายในที่กว้างขวาง ไร้เสากลาง และเป็นโครงสร้างที่ไล่ระดับกันเพื่อสร้างมิติทางสถาปัตยกรรม ซึ่งช่วยสร้างพลวัตให้เมืองดูสนุกขึ้น ไปพร้อมกับกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนผ่านงานก่อสร้างของชุมชน

07 Pedestrian Bridge

Designer : HHD_FUN Architects

Location : Jichaohsien, China

 

(ภาพโดย Zhenfei Wang, HHD_FUN Architects)

สะพานทางเดินเท้าความยาว 2 กิโลเมตร ในสวนสาธารณะริมทะเล ที่เลือกรูปทรงโค้งเพื่อให้กลมกลืนไปกับป่าสนและสวนสาธารณะที่อยู่รายรอบ ในขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับสวนอย่างลงตัว

โครงสร้างท่อเหล็กให้ความพิเศษที่สแปนที่กว้าง ออกแบบในแบบ Parametric ทำให้เกิดรูปฟอร์มที่แปลกตาไม่เหมือนใคร เมื่อมองจากมุมสูง สะพานนี้เป็นเหมือนกับงานอินสตอลเลชั่นที่สวยงามให้กับสวน แต่ในขณะเดียวกันกับที่เดินในพื้นที่ ก็รู้สึกสงบ เรียบง่าย และปลอดโปร่ง เมื่อมองจากสายตา ผ่านโครงสร้างเหล็กทรงโค้ง ออกไปสู่สวนสีเขียวที่รายล้อมอยู่ภายนอก

08 Kite Pavilion

Designer : Tongji CAUP

Location : Shanghai, China

 

(ภาพ Xinxin Wang, Zitong Wang)

แม้จะเป็นอาคารพักคอยขนาดเล็ก แต่สถาปัตยกรรมที่ดีก็ช่วยสร้างสรรค์เมืองที่สวยงาม น่าอยู่ และเป็นมิตรกับผู้คนได้เสมอ

แนวความคิดของพาวิลเลียนขนาดเล็กแห่งนี้ ต้องการเปิดพื้นที่ในขนาดที่พอดีกับตัวคน เมื่อบวกกับพื้นที่ที่ตั้งอยู่ขนานไปกับแม่น้ำ สถาปนิกจึงดึงเอาแนวคิดของว่าวที่ลอยในท้องฟ้าตามแรงลมมาสร้างสรรค์เป็นโครงสร้างโปร่งแสงที่บรรจุแสงไฟสวยงามในเวลากลางคืน โครงสร้างเหล็กทำงานร่วมกันกับไม้ สร้างงานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์และใกล้กับธรรมชาติขึ้นอีกนิด

09 Bridge over the Donau River

Designer : Marc Mimram

Location : Linz, Austria 

(ภาพโดย Erieta Attali)

สะพานข้ามแม่น้ำ Donau ที่ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างภูมิประเทศให้เข้ากับเมือง การขับเน้นรูปทรงให้ลื่นไหลไปกับแม่น้ำจึงเป็นดีไซน์ที่ถูกเลือกสำหรับใช้งาน

แม้จะเป็นโครงสร้างท่อเหล็ก แต่ความลื่นไหลของโครงสร้างเส้นโค้งช่วยเติมเส้นสายให้กับท้องฟ้าภายในเมือง และยังเป็นฉากหลังให้กับการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่สาธารณะที่รายรอบแม่น้ำ สะพานแห่งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงทางสัญจรสำหรับรถรา หรือผู้คนที่ข้ามฝั่งเท่านั้น แต่ยังเป็นสุนทรียภาพของเมืองที่เกิดขึ้นได้ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมสาธารณะอย่างเช่นสะพานข้ามแม่น้ำ

10 My Montessori Garden Preschool

Designer : HGAA

Location : Ha Long, Vietnam

 

(ภาพโดย Duc Nguyen)

ห้องเรียนในโรงเรียนอนุบาลแบบมอนเตสเซอรี่ท่ามกลางสวนที่ให้เด็กๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ของต้นไม้สีเขียว ดอกไม้ และการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เชื่อมโยงเข้าหากันทั้งหมด 

ผังอาคารแบบเหลี่ยมเรียบง่าย แต่จัดวางฟังก์ชั่นของสวนเอาไว้เป็นรูปตัว​ทีเป็นเหมือนแนวทางเดินที่โอบล้อมห้องเรียนกระจกเอาไว้ สวนแห่งนี้จะเป็นทั้งสวนสำหรับวิชางานเกษตรให้นักเรียนได้ดูแลผักง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง และยังสามารถขึ้นบันไดไปยังดาดฟ้าชั้นสอง สำหรับเป็นสนามเด็กเล่นขนาดย่อมๆ ตามแนวแปลงเกษตรได้อีก

ท่อเหล็กยังคงสร้างความเป็นไปได้ของงานออกแบบทั้งงานโครงสร้าง และสถาปัตยกรรมได้อย่างกว้างขวางตามจินตนาการของทุกคน เราจึงชวนคุณมาค้นหาผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กที่สนใจและเหมาะสมกับการใช้งานได้ผ่านทาง BIMObject กับคลังผลิตภัณฑ์ของ Pacific Pipe ท่อเหล็กมาตรฐานสากล ที่ตอบความต้องการทุกด้านของงานระบบและงานโครงสร้าง พร้อมกับคุณสมบัติของวัสดุที่ควบคุมสารตะกั่วไม่ให้เกิน 0.03% จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งาน

นอกจากนี้แล้ว Steel Service Solution ศูนย์บริการงานเหล็กแบบครบวงจรของ Pacific Pipe ยังพร้อมให้บริการครอบคลุมทั้งเรื่องสินค้า การใช้งาน และบริการ เพื่อตอบทุกโซลูชั่นของงานเหล็กที่พร้อมส่งตรงคุณภาพและมาตรฐาน ผ่านงานออกแบบที่ตอบทั้งโจทย์เรื่องฟังก์ชั่นและความสวยงามได้อย่างแท้จริง

ดาวน์โหลดท่อเหล็กของ Pacific Pipe ใน BIMObject ได้ที่ Pacific Pipe