ใครได้ประโยชน์จากการใช้ BIM

คำถามนี้คงเป็นคำถามแรกๆเมื่อเรา (หรือหัวหน้าเรา) จะตัดสินใจใช้ BIM ก่อนที่จะลงไปคุยกันว่าใครได้ประโยชน์จากการใช้ BIM บ้าง เรามาดูก่อนว่า BIM ในคำนิยามของแต่ละภาคส่วนมอง BIM ว่าย่อมาจากอะไร เราคงทราบกันมาว่านิยามโดยทั่วไปของ BIM คือ Building Information Modeling แต่เมื่อมีการนำมาใช้งานกันมากขึ้น เริ่มมีการมอง BIM ในมิติที่แตกต่างออกไป เช่น Building Information Measurement บ้าง Building Information Management บ้าง หรือบ้างแตกออกไปเป็น CIM Construction Information Modeling บ้าง Civil Information Modeling บ้าง City Information Modeling ก็เคยได้ยิน ได้เห็นมาบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่นำกระบวนการนี้ไปใช้ นำไปขยายการใช้งานส่วนใด

กลับมาที่หัวข้อที่เราเกริ่นไว้ โดยอาจจะขออนุญาตยกตัวอย่างการใช้งานเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ทั้งกระบวนการ อาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดในแต่ละส่วนมากนัก เพราะในแต่ละส่วนมีรายละเอียดและการใช้งานที่หลากหลาย เขียนอธิบายกันได้ Discipline ละตอนกันเลยทีเดียว

เจ้าของโครงการ

เจ้าของโครงการสามารถใช้ BIM ได้ตั้งแต่การหาที่ดิน เราสามารถใส่ข้อมูลการใช้งานของแต่ละพื้นที่เพื่อดูเรื่องค่าก่อสร้าง และ คืนทุนการลงทุนได้ลงในโมเดล 3 มิติ โดยผูกกับฐานข้อมูลการลงทุนที่มีอยู่ เมื่อโมเดล 3 มิติเปลี่ยน ข้อมูลการลงทุนก็เปลี่ยนทันที ช่วยในการหาจุดคุ้มทุน หรือรูปแบบที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น โดย โมเดล 3 มิติอาจจะแสดงแนวระยะถอยร่น (Set back) หรือระยะต่างๆตามกฎหมายกำหนดได้ด้วย แล้วแต่ความสามารถของผู้ใช้ และโปรแกรมที่เลือกใช้ ทั้งนี้บางกรณี ผู้ลงทุนอาจจะใช้โมเดล 3 มิตินั้น เพื่อดูทิศทางแดด หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ได้ เช่นเดียวกัน

ช่างสำรวจ (Surveyor)

เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงการรังวัด สำรวจ การให้ระดับก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ มีตั้งแต่การเก็บข้อมูล ระยะ ที่มีค่าความคลาดเคลื่อน มากน้อยต่างกันในแต่ละเทคโนโลยีและการนำไปใช้งาน ตัวอย่างเช่น การถ่ายรูป 360 มาใช้วัดระยะ ใส่โน้ตได้ รวมถึงการสร้างรูป 3 มิติขึ้นมาจากรูปถ่าย หรือการใช้กล้อง 3D scanner เพื่อเก็บ Point cloud ที่ได้ทั้งข้อมูลที่ใช้เรื่องระยะ รูปถ่าย และการรับรู้ในเชิง 3 มิติที่เกิดขึ้นจากจุด รวมถึงการใช้โดรน บวกเข้ากับเทคโนโลยี การถ่ายรูป หรือ 3D scanner ก็มีการนำมาใช้เช่นกัน ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลที่เป็นดิจิทัลมา ไม่ว่าจะเป็น วิธีใดก็แล้วแต่ เราสามารถ แชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโลก ทำให้ข้อจำกัดเรื่องต้องมาพื้นที่จริงน้อยลง

ผู้ออกแบบ

ผู้ออกแบบไม่ว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรม งานวิศวกรรม หรือสายงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้กระบวนการทำงานของ BIM ที่นำBIM Model มาทำเป็นแบบ 2 มิติ ทำแบบ 3 มิติ Perspective การทำ Presentation รวมถึงการนำมา Simulate ตามแต่ละจุดประสงค์ เช่น การวิเคราะห์เงาที่ตกกระทบต่อรอบข้าง การวิเคราะห์เชิงโครงสร้าง การวิเคราะห์แรงลม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ Programming เพื่อช่วยในการออกแบบ เช่น Grasshopper for Rhino, Dynamo for Revit ที่ช่วยให้การออกแบบมีรูปทรงที่อิสระมากขึ้น หรือใช้โปรแกรมมิ่งเพื่อช่วยทำงานซ้ำๆแทนผู้ออกแบบได้ ทำให้เพิ่มขีดความสามารถ ของผู้ออกแบบได้มาก ลองผิดลองถูกในขั้นตอนการออกแบบได้มากขึ้น

ตัวอย่างวิธีออกเเบบห้องน้ำขนาดเล็กโดยใช้ BIM Object จาก Hafele 

ผู้คิดราคา

เมื่อทางผู้ออกแบบมีอิสระทางความคิดในด้านรูปทรงของอาคาร โครงการมีความซับซ้อนมากขึ้น ทางผู้ถอดปริมาณเพื่อประเมินราคา คงต้องมีวิธีการในการรับมือ เมื่อได้รับโมเดลมาให้สามารถถอดปริมาณได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี มีทั้งการถอดโดยตรงจาก Native file หรือ Third party program ทั้งนี้ การคิดราคาจากกระบวนการ BIM เราสามารถแบ่งได้ 3 ส่วนใหญ่ๆคือ

  1. ปริมาณที่ออกมาจากโมเดลโดยตรง เช่น ปริมาณวัสดุปูพื้น จำนวนประตู หรือของที่นับชิ้นได้
  2. ปริมาณที่ไม่ออกมาจากโมเดลโดยตรง เช่น ไม้แบบ งานขุดดิน
  3. งานประกอบอื่นๆ เช่น งานชั่วคราว ค่า Overhead

ข้อที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือ ต้องตรวจสอบว่าโมเดลที่ได้รับมามีความถูกต้อง และเหมาะสมที่จะถอดปริมาณไหม รวมถึงปริมาณที่ไม่สามารถถอดได้โดยตรงจากโมเดล จะทำเช่นไร มีวิธีคิดอย่างไร เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจไม่น้อยกว่ากัน

ผู้เขียนแบบก่อสร้าง

แต่เดิมการทำงานด้านนี้ต้องนำแบบ 2 มิติสถาปัตย์ แบบโครงสร้าง งานระบบ งานตกแต่งภายใน และงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องมาซ้อนกัน เพื่อหาปัญหาและเขียนแยกออกมาเพื่อให้สะดวกกับการก่อสร้างหรือติดตั้งในแต่ละความรับผิดชอบของผูรับเหมา ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ในการทำงานที่มาก เพื่อมองให้เห็นขั้นตอนและปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น แต่เมื่อมีการใช้งานระบบ BIM ที่เป็นโมเดล 3 มิติ ทำให้เห็นปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ที่มีประสพการณ์ในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการแสดงแบบในรูป 3 มิติร่วมกับแบบ 2 มิติ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น สื่อสารกับผู้นำแบบไปใช้ได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ยังช่วยลดการผิดพลาดจากการเขียนแบบผิด หรือแบบแปลนกับรูปตัด (หรือแบบอื่นๆ) ไม่ตรงกัน เพราะแบบ และข้อมูลในแบบออกมาจากโมเดลเดียวกัน (ถ้าทำงานถูกวิธี) และเมื่อเกิดการแก้ไขก็จะช่วยให้ทำงานเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน

ผู้รับเหมา

เวลา คุณภาพ และงบประมาณ เป็นสิ่งแรกๆที่ผู้รับเหมาคำนึงถึง ผู้รับเหมาสามารถนำโมเดล 3 มิติที่ผู้ออกแบบส่งมาให้ (หรือขึ้นใหม่ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้งาน) ใส่ข้อมูลด้านเวลา ทำอะไร ทำเมื่อไหร่ โดยใคร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น มีทั้งการใส่เวลาโดยละเอียดในของแต่ละชิ้นเพื่อให้เห็นลำดับการติดตั้ง กระบวนการจัดการด้านความปลอดภัย และงานชั่วคราว ของงานติดตั้งนั้นๆ หรือจะเป็นภาพใหญ่ที่แสดงเวลาของทั้งโครงการ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าตัวเองต้องจัดการอะไรเมื่อไหร่ รวมถึงเมื่อเป็นโมเดล 3 มิติ สามารถนำมาใช้ในด้านการวางแผนการขนส่ง (Logistics) ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้บางโครงการมีการนำการเทียบ BIM โมเดล กับหน้างานปัจจุบัน ว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็จะช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นภาพเดียวกัน ส่งผลให้งานที่สำเร็จมีคุณภาพมากขึ้น เช่น เราสามารถแสดงงานระบบจาก BIM โมเดลซ้อนทับกับหน้างานจริง เป็นต้น (สามารถหาตัวอย่างเพิ่มเติมได้ใน Google พิมพ์ Hololens Construction)

ผู้ติดตั้ง

ผู้ติดตั้งสามารถ รู้ปริมาณ รู้เวลาที่จะเข้าติดตั้งงาน รู้พื้นที่ที่จะใช้ขนย้ายอุปกรณ์ พื้นที่ในการจัดเตรียมงาน พื้นที่ที่จะติดตั้งจาก BIM Model ทั้งนี้เมื่อรู้ข้อมูลดังข้างต้น ผู้ติดตั้งอาจจะเตรียมเป็นโมดูลมาจากโรงงาน และยกมาติดตั้งที่หน้างาน ทำให้ควบคุมคุณภาพของงานได้ดียิ่งขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น

CPAC Green Solution ร่วมมือ Thai Obayashi พัฒนานวัตกรรม Module Restroom Solution

ผู้ผลิต

ผู้ผลิต ก็เป็นหนึ่งใน Supply chain ที่สำคัญในการผลิตเพื่อตอบสนองผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง แต่เดิม ผู้เขียนแบบจะใช้ไม้บรรทัด Template เขียนรูปร่างที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถัดมาก็จะเป็น Block 2D Drawing file และบางผู้ผลิต ก็จะเตรียม 3D Model file เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เกี่ยวข้องในการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้

ใน BIM process นั้นผู้ผลิตสามารถ ใส่ข้อมูลทั้ง 2 มิติ ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ (Specification) วิธีการติดตั้ง วิธีดูแลรักษา (Manual) บางผู้ผลิตใส่ระยะที่จำเป็นในการบำรุงรักษาลงใน BIM Model ด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ที่จะนำไปใช้สะดวกมากขึ้น และยังช่วยให้เห็น 3 มิติ เมื่อแสดงใน Project BIM model ก็จะสามารถนำไปใช้ได้อีกหลากหลายจุดประสงค์

ดาวน์โหลด 3D Model ผู้ผลิตแบรนด์ต่างๆได้ฟรีที่ www.bimobject.com/th

บริหารจัดการอาคาร

หลังจากส่งมอบโครงการแล้ว ข้อมูลที่อยู่ใน BIM Model ที่ถูกออกแบบการจัดการข้อมูลไว้นั้น จะช่วยให้ผู้จัดการอาคารทราบข้อมูล ขนาดพื้นที่ ชื่ออุปกรณ์ ชื่อผู้ผลิต เป็นต้น โดยที่เปิดดูได้จากโมเดลได้โดยตรง หรือเข้าถึงข้อมูลผ่านโมเดล ซึ่งผู้บริหารโครงการถ้าเข้าร่วมตั้งแต่ออกแบบ และก่อสร้างได้ จะมีข้อดี เช่น การกำหนดข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาระบุ หรือสามารถตรวจสอบระยะการ Maintenance ในช่วงตรวจสอบโมเดลในการก่อสร้าง เป็นต้น

เจ้าของโครงการ

สุดท้าย เจ้าของโครงการจะได้ ข้อมูลจาก BIM Model จะกลับมาเป็นฐานข้อมูล เพื่อที่สามารถนำไปพัฒนาในโครงการถัดไปได้ดียิ่งขึ้น (ในปัจจุบันผู้เขียนเข้าใจว่ามีการเก็บข้อมูลกลับมาใช้อยู่บ้างแล้วในการทำงานที่ไม่ใช่ BIM) ซึ่ง BIM Model จะช่วยให้ข้อมูลที่กลับมามีความละเอียด และได้มา (เกือบ) อัตโนมัติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของข้อมูลและการวางโครงสร้างของข้อมูลที่อยากได้ตั้งแต่เริ่มโครงการ

โปรแกรมเมอร์

ผู้เขียนขอแถมอีกส่วนหนึ่งที่มีบทบาทหลังจากเริ่มกระบวนการ BIM ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆขอเปรียบการทำงานด้วยระบบ BIM คือการทำงานบนระบบดิจิทัล ซึ่งข้อมูลหรือโมเดลที่เป็นดิจิทัลเหล่านี้ ทางโปรแกรมเมอร์ จะสามารถเขียนโปรแกรมหรือดึงข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมิติ เช่น การทำงานที่เป็นงาน Routine หรืองานที่ยากที่จะเขียนแบบหรือสร้างโมเดล ก็ให้คอมพิวเตอร์มาช่วยทำแทนได้มากขึ้น ซึ่งมีทั้งโปรแกรมสำเร็จรูป หรือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาเองผ่าน API ที่แต่ละโปรแกรมอนุญาตให้เชื่อมต่อ หรือการที่มีผู้สนใจ Grasshopper for Rhino, Dynamo for Revit หรือ Generative Design รวมถึงการใช้ AI ที่มากขึ้น

สุดท้าย ผู้เขียนคงไม่สามารถตอบได้ว่าใครได้ประโยชน์จากการใช้ BIM ของทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ ทั้งด้านเด่น และด้านด้อย ทั้งนี้ตลาดได้ทำการเชื้อเชิญ (กึ่งบังคับ) ให้เราต้องปรับตัวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิด และขนาดของโครงการ

สุดท้ายผมขอถามท่านผู้อ่าน นิยามคำว่า BIM ของท่านคืออะไร