ผู้ที่อยู่ในวงการ BIM อาจเคยได้ยินผู้มีประสบการณ์ BIM บางท่านเคยให้ความเห็นว่า

BIM นั้น ต้องทำงานอยู่ใน Software ยี่ห้อเดียว ไม่สามารถทำงานข้ามยี่ห้อได้ หรือแม้ว่าทำได้ก็จะเกิดความยุ่งยาก อาจทำให้โครงการของเรามีปัญหา ล่าช้า และ งบบานปลายได้

คำกล่าวอ้างนั้นอาจจะดูเหมือนจริง แต่หากคิดวิเคราะห์จากบทความที่ผู้เขียนได้เขียนในครั้งที่แล้วเรื่อง BIM กับการซ่อมบำรุงอาคาร เจ้าของอาคารจะต้องนำBIM Model ไปใช้งานร่วมกับระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งประกอบด้วย Software อีกจำนวนมากที่ไม่ใช่รูปแบบของ BIM ด้วย เช่น บัญชี, HR, การซ่อมบำรุง, การจัดซื้อเป็นต้น

หากคำกล่าวอ้างว่า Softwareเกี่ยวกับ BIM ยังสื่อสารข้ามยี่ห้อกันไม่ได้จริง แล้ว BIMจะสื่อสารกับโลกภายนอก BIM ได้อย่างไร? โดยผู้เขียนได้เป็นล่ามในการบรรยายเรื่องนี้ให้ BIM Guru: Mr. Eugenio จึงอยากเรียบเรียงสาระมาแชร์กับท่านผู้อ่านดังนี้

Reliable Data Reliable Data – Accessible for the Future

How many years will our Built Assets last? อาคารของเรามีอายุการใช้งานกี่ปี? อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า อาคารต่างๆ รอบตัวเรานั้น ใช้งานมากกว่า 30 ปี บางแห่งก็มีอายุมากกว่า 50 ปี เช่น สำนักงาน โรงพยาบาล โรงงาน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น จะเกิดอะไรขึ้นหากว่าเจ้าของอาคารต้องการเปิดไฟล์ BIM As-built Model ที่สร้างวันนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า? ท่านที่มีประสบการณ์ใน BIM มากกว่า 5 ปี อาจลองทดสอบได้ด้วยการนำไฟล์โครงการแรกที่ทำ มาเปิดด้วย Software เวอร์ชันล่าสุดว่าพบปัญหาในการแปลงไฟล์อย่างไร แล้วข้อมูลใดที่ตกหล่นหายไปบ้าง และลองจินตนาการว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ท่านจะสามารถเปิดไฟล์นี้ได้หรือไม่

Data – Proprietary Format: คือข้อมูลที่จัดฟอร์แมตเฉพาะของ Software นั้นๆ หากนำไปเปิดด้วย Software อื่น อาจทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนหรือหายไป ยกตัวอย่างเช่น เสาบ้านที่เราสร้างด้วย Software X กำหนดฟอร์แมตเป็น กว้าง, ยาว, สูง ตามลำดับ แต่พอนำไปเปิดด้วย Software Y ทำให้ข้อมูลสลับกลายเป็น สูง, กว้าง, ยาว ทำให้เกิดปัญหาหากจะนำไปใช้ในการคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างเป็นต้น และแม้แต่ Software ยี่ห้อเดิม ที่ต่างเวอร์ชั่นกัน ก็อาจมีปัญหาเดียวกันนี้ได้

1 BIM Solution = Good Solution? ถ้าอย่างนั้นเราควรกำหนดไหมว่า โครงการอาคาร A กำหนดให้ใช้ Software X version 2022 ไปตลอดกาล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว?

ในข้อเท็จจริงนั้น หากโครงการมีขนาดใหญ่ อาจต้องใช้เวลาออกแบบมากกว่า 2 ปี และอาจก่อสร้างมากกว่า 4 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือวันแรกที่เปิดใช้อาคารนั้น Software X Version 2022 ก็ได้ล้าสมัยไปกว่า 6 ปีแล้ว จะไม่สามารถใช้ Features ใหม่ๆ ที่ทันสมัยได้เลย นอกจากนี้การยึดติดกับ Software X เท่านั้น ยังเป็นการเสียโอกาสเข้าถึง Features พิเศษของ Software ยี่ห้ออื่นๆ ด้วย เช่น การตรวจสอบคุณภาพของโมเดล (ยกตัวอย่าง Software X ไม่มี Features ตรวจคุณภาพโมเดล เช่น ขนาดขั้นต่ำของห้องนอน, ความกว้างโถงทางเดินในอาคารตามกฏหมาย, ระยะ Vertical Clearanceทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องหาวิธีตรวจเอง เช่น ด้วยการเอาเมาส์จิ้มวัดระยะ, เขียนโปรแกรมเพิ่มเติม ในขณะที่ใช้ Software Y มี Features ดังกล่าวสามารถตรวจสอบคุณภาพโมเดลได้อัตโนมัติ สามารถทำได้ภายในไม่กี่นาที)

ยิ่งไปกว่านั้น Software อื่นๆ มี Features ที่น่าสนใจ เช่น ความเบาและรวดเร็วในการประมวลผล, การใช้งานบน Mac OS, การวิเคราะห์เรื่องอัคคีภัย, เรียกได้ว่าหากเจ้าของอาคารกำหนดให้ยึดติดกับ Software เดียว ก็จำเป็นต้องทิ้ง Features ดีๆ ของ BIM ทิ้งไปทั้งหมด ซึ่งการกระทำนี้อาจจะไม่ตรงกับนิยามของกระบวนการ BIM สักเท่าไหร่

Standardized Data structure – Being able to use our Data

หากเปรียบเสมือน Software ยี่ห้อต่างๆ ของ BIM คือภาษา เช่น Software X เป็นภาษาจีน, Software Y เป็นภาษาไทย, Software Z เป็นภาษาเกาหลี วิธีที่ทำให้คนจาก 3 ชาติ คุยกันรู้เรื่องได้ง่ายที่สุด ก็คือคุยภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษ ซึ่งก็คือ Standardized Data structure ใน BIM นั้นเอง โดยมีคำศัพท์ในวงการเรียกว่า “OPEN BIM”

โดย OPEN BIM มีการใช้ไฟล์ Format ตระกูล IFC ซึ่งพัฒนาโดย buildingSMART ตั้งแต่ปี 1994 ให้เป็น Open Data Format ของ BIM และสามารถใช้งานร่วมกับ Open Data Format อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น PDF, CSV และ BCF ทำให้สามารถใช้งานได้จากทุก Software และทุกเวอร์ชั่น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด (Open Data Format คือไฟล์ที่เปิดด้วย “อะไรก็ได้” เช่น ไฟล์ PDF ของAs-built Drawing ที่สร้างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันสามารถเปิดได้ด้วยคอมพิวเตอร์ แมค และวินโดส์ รวมถึง Smart Device) นอกจากนี้ไฟล์ดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้งานต่อใน Dimensionอื่นๆ ของ BIM เช่น 4D (Time Liner: จำลองการก่อสร้าง), 5D (Quantity Takeoff: ถอดปริมาณ ราคา), 6D (Simulation & Analysis: เช่น แบบจำลองการหนีไฟ, ไฟไหม้, ความแข็งแรงของอาคาร เป็นต้น)

สำหรับ BIM 7D (Asset&Facility Management: การบริหารจัดการและบำรุงรักษาทรัพย์สิน) จำเป็นต้องทำงานกับ Open Data Format มากที่สุด เนื่องจากต้องทำงานหลายทศวรรษ (ต่างจากการออกแบบ และการก่อสร้างมักจะใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี) จำเป็นต้องทำงานร่วมกับ Software หลายยี่ห้อ หลายเวอร์ชั่น

รวมถึงต้องทำงานกับ Non-BIM software และเนื่องจากต้องทำงานหลายทศวรรษ ตัวโมเดลอาคารเหล่านั้นอาจถูกนำกลับมาแก้ไขเนื่องจากการรีโนเวต หรือมีการต่อเติมขยายอาคาร โดยต้องมีข้อมูลในโมเดลตรงกับ ERP ในขณะนั้น ดังนั้น Open Data Format จึงจำเป็นกับการทำงานประเภทดังกล่าว และการที่บุคลากรในองค์กรขาดความเข้าใจใน Open Data Format อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบวนการ BIM ยังไม่ถูกนำไปใช้งานช่วงการบริหารอาคาร

เห็นได้ว่า OPEN BIM มีความจำเป็นสำหรับการบริหารทรัพย์สินอาคาร ซึ่งแม้ว่า OPEN BIM จะดูยุ่งยากกว่าการทำงานใน Software ยี่ห้อเดียวเล็กน้อย แต่ในระยะยาวแล้วเจ้าของโครงการได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าทั้งในแง่ของการได้ความมั่นใจว่าจะสามารถใช้ข้อมูลชุดนี้ทำงานต่อได้หลายทศวรรษ รวมถึงได้รับผลงานที่ดีที่สุดจากคนทำงานที่ได้ใช้เครื่องมือที่ตนเองถนัด และได้รับ Features เด่นๆ ของ Software หลายๆ ยี่ห้อเข้าด้วยกันด้วย

Original Lecturer**
Eugenio Fontan Yanes
M. Arch, ARB, HKIBIM
BIM Consultant at GRAPHISOFT ASIA
Adjunct Assistant Professor at Hong Kong University
Co-Founder of enyzyme APD

Co-author/Translator
ดร.สรัสไชย องค์ประเสริฐ