สำหรับแวดวงการก่อสร้างและสถาปัตยกรรม ‘ท่อ’ คือหนึ่งในวัสดุที่ขาดไม่ได้ในไซท์งานก่อสร้าง ถึงแม้ ‘ท่อ’ จะเหมือนกับเป็นวัสดุหลังบ้าน แต่ก็นับเป็นวัสดุชิ้นหลักของอาคารที่ครอบคลุมงานระบบสาธารณูปโภคภายใน ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบประปา และระบบสุขาภิบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชีวิตประจำวันภายในอาคารอย่างราบรื่นเรียบร้อยไปด้วยดี

เพราะท่อมีให้เลือกสรรหลากหลายรูปแบบ แล้วท่อแต่ละแบบก็มีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน เราจึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จัก ‘ท่อ’ ให้มากขึ้นกว่าที่เคย เพื่อการเลือกสรรท่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน รูปลักษณ์ที่ต้องการ เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานก่อสร้างตรงตามมาตรฐานสูงสุด พร้อมจบงานแบบแฮปปี้ทุกฝ่ายทั้งคนออกแบบ วิศวกร และเจ้าของอาคาร

ท่อ 5 ประเภท กับข้อดีที่แตกต่าง

‘ท่อ’ สำหรับการใช้งานทั่วไปในอาคาร แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อไซเลอร์​ ท่อพีวีซี ท่อพีพีอาร์ และท่อพีอี ซึ่งความแตกต่างหลักที่สังเกตเห็นได้นั่นก็คือเรื่องคุณสมบัติของวัสดุ ที่ทำให้ท่อแต่ละประเภทตอบการใช้งานของระบบภายในอาคารที่แตกต่างกันไป

เมื่อพูดถึงงานท่อ อย่างแรกที่ขึ้นมาในหัวของทุกคนคือ (1) ท่อพีวีซี ซึ่งทำจากวัสดุพลาสติก Poly Vinyl Chloride ซึ่งมีข้อดีที่ความเหนียว ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา และมีการจัดรูปแบบการใช้งานสำเร็จรูปตามสีที่แตกต่างกัน สีฟ้า-ประปา สีเหลือง-ท่อไฟฝัง สีขาว-ท่อไฟเดินลอย และสีเทา-เกษตร แต่เพราะเป็นวัสดุพลาสติก ซึ่งไม่เหมาะกับงานอุณหภูมิสูงอย่างการลำเลียงน้ำร้อน จึงนำมาสู่การใช้งาน (2) ท่อพีพีอาร์ หรือท่อจากวัสดุพลาสติก Polypropylene Random Copolymer ซึ่งมีคุณภาพสูงขึ้น ทนความร้อนได้มากขึ้น แข็งแรงขึ้น และอายุการใช้งานยาวนานขึ้น และสามารถใช้งานทดแทนท่อพีวีซีได้ในคุณสมบัติที่มากกว่า

ท่อพลาสติกอีกประเภทหนึ่งนั่นก็คือ (3) ท่อพีอี ซึ่งทำจากวัสดุ Polyethylene Thermoplastic ที่มีจุดเด่นในเรื่องความยืดหยุ่น ทำให้ท่อประเภทนี้สามารถโค้งงอได้ดี เชื่อมข้อต่อน้อยลง และสามารถม้วนเก็บได้ ซึ่งตัวของท่อพีอีเอง ก็แบ่งออกได้อีกเป็นท่อ HDPE หรือท่อความหนาแน่นสูงที่เหมาะกับงานนอกอาคาร เพราะทนกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดได้ดี และท่อ LDPE ที่มักใช้ในงานการเกษตร

(4) ท่อไซเลอร์ คือท่อที่อยู่กึ่งกลางระหว่างท่อเหล็กและท่อพลาสติก เพราะภายในเป็นพลาสติกพีอี ส่วนภายนอกทำจากเหล็กชุบสังกะสี ซึ่งได้เปรียบในเรื่องความแข็งแรง การใช้งานเอาท์ดอร์ และการใช้งานในอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ แต่ก็ตามมาด้วยงบประมาณวัสดุที่สูงตามไปด้วย 

ท่อเหล็ก กับงานระบบและงานโครงสร้าง

ทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการท่อที่แข็งแรงทนทานจึงอยู่ที่ (5) ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี เพราะทำมาจากเหล็กกล้าที่นำไปเคลือบหรือชุบสังกะสีป้องกันการเกิดสนิม แล้วค่อยนำมาขึ้นรูปให้เป็นท่อเหล็ก โดยตัวท่อเหล็กเองก็มีความหนาให้เลือกสรรหลากหลายระดับตามสีของสายคาด ตั้งแต่สีแดง สีน้ำเงิน และสีเหลืองตามลำดับ ข้อดีนี้เองที่ทำให้ท่อเหล็กสามารถประยุกต์ใช้งานได้มากมายตามความต้องการใช้งานระบบ และดีไซน์ที่ตอบกับงานสายตกแต่งและสถาปัตยกรรมได้แบบเรียบเท่

นอกเหนือจากเรื่องฟังก์ชั่นสำหรับงานระบบไฟฟ้า ประปา และสุขาภิบาลแล้ว ท่อเหล็กยังสามารถทำตัวเป็นโครงสร้างของงานสถาปัตยกรรมได้ด้วยเช่นกัน เพราะด้วยหน้าตัดวงกลมของท่อเหล็ก จึงทำให้โครงสร้างสามารถทนทานต่อการรับแรงในสภาพต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นแรงลม แรงดันน้ำ หรือแรงกระแทกคลื่นในทะเล เราจึงมักเห็นโครงสร้างท่อเหล็กกับงานสถาปัตยกรรมสาธารณะที่หลากหลาย ทั้งสะพาน หรืออาคารขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน โรงงานอุตสาหกรรม งานด้านเครื่องจักรกล เป็นต้น

คุณสมบัติเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างมาพร้อมกับคุณสมบัติของวัสดุเหล็กที่มีคาแรกเตอร์ของความเป็นอุตสาหกรรม แต่ก็ยังคงรูปลักษณ์ความงามแบบดิบเท่ที่เป็นสัจวัสดุจากกระบวนการผลิต นั่นทำให้ท่อเหล็กกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของงานดีไซน์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การที่ตัวเองทำตัวเป็นโครงสร้าง หรือจะเป็นส่วนงานตกแต่งภายในบ้านและอาคารในสไตล์อินดัสเทรียล ได้ทั้งลุคฟีล พร้อมกับความทนทานในการใช้งานไปพร้อมกัน

ท่อเหล็กกับ BIM Object

สำหรับใครที่กำลังมองหาท่อเหล็กสำหรับงานออกแบบและก่อสร้าง ทาง BIM Object ก็มีคลังสินค้าจาก Pacific Pipe มาแนะนำ ด้วยผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กมาตรฐานสากล ควบคุมสารตะกั่วทั่วไปไม่ให้เกิน 0.03% ตามมาตรฐานการผลิตของทาง Pacific Pipe จึงช่วยยืดอายุการใช้งาน ทั้งกับงนระบบและโครงสร้างให้ยาวนานยิ่งขึ้น พร้อมกับช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการซ่อมบำรุงและดูรักษาด้วย

ซึ่งในส่วนของ Pacific Pipe เอง ก็มีบริการ Steel Service Solution ศูนย์บริการงานเหล็กครบวงจร ที่ครบครันตั้งแต่เรื่องผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการ ด้วยความเชี่ยวชาญงานท่อเหล็กของ Pacific Pipe ที่พร้อมมอบคุณภาพ มาตรฐาน และความไว้วางใจ เพื่อส่งต่อโซลูชั่นคุณภาพถึงมือของลูกค้าทุกคน

ดาวน์โหลดท่อเหล็กของ Pacific Pipe ใน BIMObject ได้ที่ Pacific Pipe