ถ้าพูดถึงชื่อ PACIFIC PIPE หรือ PAP แน่นอนว่าทุกคนจะต้องคิดถึงท่อเหล็กที่อยู่คู่กับวงการก่อสร้างไทยมายาวนาน ด้วยคุณภาพ มาตรฐาน และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินค้าท่อเหล็ก ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากตลาดงานก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศมาตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี

จากความเชี่ยวชาญของ PAP ในอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายท่อเหล็กรายใหญ่ของประเทศไทย ครอบคลุมงานโครงสร้างและงานระบบทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับงานเหล็ก มาวันนี้ PACIFIC PIPE ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตท่อเหล็ก แต่เป็น ‘Total Solution’ เพื่อตอบสนองทุกจินตนาการให้เป็นจริง วันนี้จะพามาพบกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจอย่างที่ทุกคนรู้จัก คุณเอื้อมพร ปัญญาใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้พาแปซิฟิกไพพ์ก้าวสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของงานเหล็กอีกครั้ง

จากท่อเหล็ก PAP สู่ Total Solution เบื้องหลังคือการพัฒนาบุคลากร

ผลิตภัณฑ์ของ บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PAP ครอบคลุมมากกว่า 5,000 รายการ ด้วยกำลังการผลิตรวม 450,000 ตัน/ปี โดยสินค้ามาตรฐานสูงตอบสนองกับความต้องการที่หลากหลาย ทั้งงานโครงสร้าง อย่างโครงสร้างการคมนาคม ท่าอากาศยาน คลังสินค้า อาคารสูง และงานระบบ อย่างงานระบบป้องกันอัคคีภัย ชลประทาน สุขาภิบาล ไปพร้อมกับการพัฒนาบริการด้านการแปรรูปเหล็ก เพื่อช่วยเหลือระบบการทำงานให้กับผู้รับเหมาและช่างก่อสร้าง ด้วยบริการการตัด ดัดโค้ง ชุบ เคลือบสี อย่างครบครัน

ก้าวต่อไปของงานท่อเหล็กของแปซิฟิกไพพ์ เดินทางมาสู่การเป็นผู้ให้บริการครบวงจร หรือ Total Solution ในงานวัสดุเหล็ก (Steel Material) ในโลกยุคที่ข้อมูลเรื่องวัสดุเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเราทุกคน

“สืบเนื่องจากวิสัยทัศน์ของแปซิฟิกไพพ์ คือการเป็นมากกว่าผู้ผลิตท่อเหล็ก เราต้องการเป็น ‘Total Solution’ ให้กับลูกค้าทุกราย เพราะเรากำลังก้าวไปสู่ Steel Material เราจะต้องเป็นหนึ่งในวัสดุที่ลูกค้านึกถึง เนื่องจากปัจจุบันวัสดุทางเลือกในการก่อสร้างต่างๆ มีอยู่เยอะมาก เราจึงมองให้รอบด้านมากขึ้นในเรื่องวัสดุ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การจับตลาดให้ทัน และมองสินค้าท่อเหล็กไปในแนวทางที่ยั่งยืน นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามพัฒนา ‘คน’ ก่อนเป็นอันดับแรก”

คุณเอื้อมพรเล่าว่า การปลูกฝังทัศนคติของคนทำงานให้พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ คือกุญแจสำคัญที่จะพาองค์กรเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และพร้อมสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบรับกับความต้องการของลูกค้าตลอดเวลา

“ช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 คือบทพิสูจน์หนึ่งที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ถ้าพนักงานทั้งในส่วนออฟฟิศและโรงงาน ทุกคนสามารถปรับตัวต่อการทำงานในรูปแบบใหม่ได้ทันที ก็จะทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และนี่เองที่เราสร้างองค์กรแห่งนี้ให้เป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) โดยการสร้างทัศนคติที่ดีเพื่อต่อยอดความรู้ทั้งเรื่องธุรกิจและการทำงาน ด้วยการสร้างตลาดใหม่ รู้จักและเข้าใจลูกค้าจนสามารถตอบสนองความต้องการ ไปพร้อมกันกับการยกระดับความสามารถให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

ยกระดับระบบนิเวศในอุตสาหกรรมเหล็ก ด้วย BIM และ Digitization

ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการยุคใหม่ที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับ Digitization หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอดธุรกิจ เช่นเดียวกันกับที่ แปซิฟิกไพพ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำพาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยเดินทางไปสู่นวัตกรรมด้านการก่อสร้างที่ตอบความต้องการของผู้ใช้งานในระบบนิเวศอุตสาหกรรมเหล็กทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้รับเหมา วิศวกร ที่ปรึกษาโครงการ สถาปนิก ไปจนถึงลูกค้าปลายทางที่เป็นเจ้าของและผู้ใช้งานโครงการ

คุณเอื้อมพรกล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในปัจจุบัน และบทบาทของแปซิฟิกไพพ์ในฐานะผู้นำวงการ “อุตสาหกรรมเหล็กของไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างดั้งเดิม และห่างไกลจากการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 อีกทั้งประเทศไทยยังต้องนำเข้าเหล็กต้นน้ำจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศเราไม่มีโรงถลุงเหล็ก มีแต่อุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำและปลายน้ำ เช่นเดียวกันกับแฟซิฟิกไพพ์ที่เป็นอุตสาหกรรมเหล็กปลายน้ำ คือการเป็นผู้ผลิตเหล็กรูปพรรณ เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้เราไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตเองได้ รวมทั้งสงครามการค้าที่เหล็กในประทศไทยได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดจากเหล็กจีน ส่งผลให้ราคาเหล็กมีความผันผวนสูง”

จากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา ทางแปซิฟิกไพพ์จึงเริ่มต้นตั้งแต่การให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเหล็กถึงทุกกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานเพื่อตอบสนองความสะดวกของลูกค้า อย่างการเลือก ‘BIM’ มาร่วมในกระบวนการทำงานจึงเป็นเรื่องที่แปซิฟิกไพพ์ให้ความสำคัญ

“BIM มีส่วนอย่างมากในการช่วยพัฒนาคุณภาพและความรวดเร็วของการออกแบบงานก่อสร้างด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการคำนวณวัสดุ ‘เหล็ก’ ซึ่งนับเป็นโครงสร้างสำคัญของทุกงานก่อสร้าง โดย BIM เข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของวิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง สถาปนิก และเจ้าของโครงการ ในยุคปัจจุบันให้สามารถออกแบบ และวางแผนงานก่อสร้างได้อย่างเป็นมืออาชีพ และคุ้มค่ามากที่สุด”

ก่อนจากกัน คุณเอื้อมพรได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของแปซิฟิกไพพ์ ผ่านทางนโยบายด้านการสร้างสรรค์มาตรฐานสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมที่ตอบความต้องการของลูกค้า การพัฒนาบุคลากรซึ่งนับเป็นสินทรัพย์อันมีค่าขององค์กร ไปพร้อมกับการสร้างกิจกรรมด้านการตลาดและไม่หยุดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของ คู่ค้า ลูกค้า อย่างต่อเนื่อง ตามพันธกิจขององค์กรที่ว่า “ Your Partner For Total Solution”