ชื่อของ ATOM Design เป็นที่รู้จักในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบคอนโดมิเนียมที่หลายแห่งกลายมาเป็นแลนด์มาร์กของย่าน ด้วยเส้นสาย รูปลักษณ์ที่หวือหวาสะดุดตา จนทำให้สถาปัตยกรรมเหล่านี้ทำงานกับผู้อาศัยและชุมชนไปพร้อมกัน

เรานั่งคุยกับ คุณปอย – ไพทยา บัญชากิติคุณ ผู้ก่อตั้ง ATOM Design ในบ่ายวันสบาย ตั้งแต่เรื่องราวความรักความชอบในการเรียนรู้ ไปจนถึงเรื่องการทำงานที่ต้องก้าวตามเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์งานที่แฮ็ปปี้กับทุกฝ่าย

ลายเซ็นของเส้นสาย

เพราะเรามักจะเห็นคุณปอยทำงานออกแบบอาคารขนาดใหญ่ประเภทสถาปัตยกรรมตึกสูงและคอนโดมิเนียม จนลายเซ็นของงานจาก ATOM Design กลายเป็นหนึ่งในการเซ็ตมาตรฐานใหม่ให้กับงานสถาปัตยกรรมคอนโดมิเนียมในเมืองไทย

นอกเหนือจากความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นแล้ว เครื่องมือในการทำงานอย่าง BIM ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานสเกลขนาดใหญ่เช่นนี้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รูปลักษณ์ที่ตรงตามความต้องการ และความเข้าใจตรงกันในการทำงานกับผู้คนจากหลากหลายภาคส่วน

“เราเริ่มใช้งาน BIM มาได้ประมาณ 4-5 ปีแล้ว จริงๆ เราเองรู้จักซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว แล้วก็รู้ว่าเทรนด์การทำงานจะมาในทางที่เป็น 3-Dimensional Software (ซอฟท์แวร์สามมิติ) มากขึ้น ที่สำคัญเจ้าของโครงการโดยเฉพาะฝั่งดีเวลอปเปอร์มีความต้องการให้ทีมงานทั้งนักออกแบบและวิศวกรมาใช้เทคโนโลยีตรงนี้ เพราะตามทฤษฎีที่ว่า ในแง่ของการบริหารโครงการ ควรจะต้องเกิดมูลค่าสูงสุด ซึ่งการประเมิน Clash Detection (การตรวจจับความผิดพลาด) ได้ก่อน ก็จะช่วยลดการแก้ปัญหาหน้างาน และลดความสูญเสียล่วงหน้า ซึ่งพวกนี้คือมูลค่าทั้งหมด”

คุณปอยเล่าให้ฟังถึงการเดินทางของการใช้ BIM ตั้งแต่ยังเป็นเพียงฝั่งนักออกแบบที่เริ่มต้นทำก่อน แล้วค่อยขยายเป็นแบบเต็มรูปแบบกับทุกฝ่าย อะไรที่ทำให้ BIM กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นใหม่ในงานออกแบบสถาปัตยกรรม?

“ย้อนไปตอนเริ่มต้นทำแรกๆ ตอนนั้นจะมีคำว่า Lonely BIM ก็คือ BIM ที่มีแค่นักออกแบบทำอยู่คนเดียว ซึ่งในเชิงการทำงาน การทำให้เห็นภาพสามมิติช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น แต่ในแง่ของผลประโยชน์จากการลงมือทำจริงๆ ก็ยังไม่ได้อะไรสักเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นเจ้าของโครงการเนี่ยแหละที่ผลักดันให้วิศวกรมาร่วมทำด้วยกัน ซึ่งในตอนแรกทุกคนทุกฝ่ายก็จะมีความกลัวว่าจะไหวเหรอ เราเลยให้คำปรึกษากับทางทีมว่า ลองเริ่มต้นทำใน 1 โครงการและทำแค่ Typical floor ชั้นเดียวก่อน เนื้องานมันไม่เยอะ แต่มันส่งผลดีกับทั้งโครงการเพราะ repeat ไปหลายชั้น พอช่วยๆ กันทำก็ทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกสบายตัวขึ้น ว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด นั่นแหละคือครั้งแรกที่เริ่มเป็น Full BIM”

นอกจากคำตอบในเรื่องภาพสามมิติที่เห็นทุกความคิดถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนแล้ว BIM ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยในการพยากรณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา และสามารถแก้ไขปัญหาด้านงานออกแบบและก่อสร้างได้ล่วงหน้าก่อนลงมือสร้างจริง

“พอเราทำ BIM กับทุกฝั่งทั้งฟากนักออกแบบและวิศวกร เราจะมองเห็นปัญหาพร้อมกัน ทั้งงานโครงสร้างหรืองานระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าได้ประโยชน์ เพราะงานก่อสร้างคอนโดมิเนียม ความสูงฝ้าเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุดของโปรดักต์กลุ่มนี้ การทำดีไซน์ไม่ละเอียด แล้วความสูงฝ้าหน้างานต้องต่ำลงเนื่องจากการ combine แบบงานระบบไม่ครบถ้วน จะส่งผลถึงขนาดที่ห้องนั้นขายไม่ได้เลยนะ เพราะฉะนั้นความเสียหายมันสูงมาก”

BIM ในฐานะเครื่องมือที่ควรหัดให้ติดมือ

ก่อนจะมาใช้งาน BIM คุณปอยและสถาปนิกในออฟฟิศเองก็ใช้งานซอฟท์แวร์ทั้ง 2 มิติและ 3 มิติเช่นเดียวกับที่หลายๆ ออฟฟิศใช้กัน ซึ่งตลอดการทำงานที่ผ่านมา ทำให้คุณปอยเล็งเห็นถึงข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกันไประหว่างการทำงานแบบเดิม กับการใช้งาน BIM แบบเต็มรูปแบบ

“ปัจจุบันก็ยังมีการใช้ tool และ software ทั้ง 2d, 3d ผสมกันอยู่ เพื่อความคล่องตัวและตามบริบทของงานแต่ละโครงการ แต่การใช้ 2d เขียนแบบ และใช้ 3d ในการออกแบบและทำส่วน presentation rendering แยกกันซึ่งมีข้อเสียเรื่องการทำงานซ้ำซ้อนและปัญหาจากความคลาดเคลื่อนกันของข้อมูลแต่ละชุด ซึ่งเราก็พยายามปรับให้เป็น BIM มากขึ้นเรื่อยๆ

โดยหลักการทำงานบน BIM จะมีความเป็น single platform, single source ของข้อมูลทำงานได้ต่อเนื่องตามขึ้นตอนการทำงานซึ่งลดปัญหาเรื่องข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกันไปได้อย่างมาก เกิดwasteจากการทำงานซ้ำซ้อนน้อยลงมาก ซึ่งปัจจุบันงานที่ทำในออฟฟิศใช้ BIM ประมาณ 60% ส่วนอีก 40% ก็ยังใช้แบบผสมอยู่ตามข้อจำกัดของแต่ละโครงการ ซึ่งก็มีหลายโครงการที่เราก็ยังใช้ BIM แม้จะทำอยู่ฝั่งเดียวจากทีมทั้งหมดในโครงการ”

เพราะ BIM เป็นเครื่องมือใหม่ที่อาจจะยังไม่ได้ชินมือกับหลายคนในตอนแรก สิ่งที่คุณปอยแนะนำสำหรับสถาปนิกหรือวิศวกรที่อยากเริ่มใช้งาน BIM นั่นคือการฝึกฝนทักษะการใช้งาน

“อันดับแรกจะเป็นเรื่องของทักษะการใช้งานซอฟท์แวร์ซึ่งเป็นเบสิค แต่อย่างที่เรารู้ว่า BIM ไม่ได้เป็นแค่ซอฟท์แวร์ แต่เป็นเครื่องมือในระบบการทำงาน (Operational System) แต่ส่วนหนึ่งของก้าวแรกก็คือต้องทำซอฟท์แวร์ให้ชำนาญก่อน แล้วค่อยรวมเครื่องมือเข้ามาในขั้นตอนในการทำงาน รวมทั้งเรื่องการทำระบบ Library, family และการวางระบบพื้นฐานในองค์กรก่อน ซึ่งต้องลงทุนลงแรงในการจัดทำขึ้นมามากพอสมควร แต่เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานของทุกขั้นตอนซึ่งถ้าพื้นฐานเหล่านี้มีความพร้อมก็จะช่วยประหยัดแรงและ resource ได้ในระยะยาว”

หลังจากทักษะในตัวแต่ละบุคคลเกิดขึ้นแล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือการทำงานเป็นทีม ซึ่งคุณปอยแนะนำให้มีการจัดตั้ง Pilot Team หรือทีมตั้งต้นที่จะเป็นคนพัฒนารูปแบบการทำงานให้ทุกคนเห็นภาพที่ชัดเจนร่วมกัน ก่อนที่จะขยายไปสู่เพื่อนร่วมงานหรือทีมอื่นๆ ให้อยากทำบ้างและมีต้นแบบให้อ้างอิง

“ถ้าถามว่าในอนาคตระยะยาว BIM จะทำให้เกิด Disruption วงการออกแบบไหม? ต่อจากนี้ก็ยังเชื่อว่า การทำแบบ Hybrid หรือผสมผสานกันระหว่างซอฟท์แวร์แบบเดิมกับ BIM ก็จะยังคงเป็นอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง ในเชิงภาพรวมของอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้างนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐก็จะมีการใช้ BIM เป็น platform มากขึ้นเรื่อยๆยกตัวอย่าง TOR ของงานภาครัฐจะมีการระบุเรื่อง BIM เป็นเรื่องที่ต้องมีในทุกโครงการ ซึ่งจะเสียโอกาสมากถ้าไม่สามารถทำงานบน BIM platform ได้ตอนนี้หลายที่หลายหน่วยงานก็กำลังอยู่ระหว่างการวัดผลว่าการใช้ BIM ในการทำงานสามารถช่วยลดต้นทุนได้เท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้วธุรกิจจำเป็นต้องวัดผลได้ ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดเจนก็คือ ความผิดพลาดจากการออกแบบหรือการก่อสร้างลดลงอย่างมากซึ่งหลายที่ก็พยายามเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลว่าการไม่เกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดในอดีตนั้นถ้าคิดเป็นตัวเงินจะมีมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งหลายที่ก็เริ่มวัดผลเป็นตัวเลขได้ พอเริ่มเห็นความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ ก็ถือว่าเป็นแรงผลักดันที่ดีสำหรับการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ที่จะสมบูรณ์ได้มากขึ้นไปอีก”

BIM กับการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด

“พื้นฐานเราเป็นคนชอบเล่นของเล่น ชอบทดลองมาตลอด และในยุคนี้ generation นี้ที่บริบทของการเรียนรู้เปลี่ยนไปกว่าเมื่อก่อนมากๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้มหาศาลได้ด้วยนิ้วสัมผัส เมื่อความรู้มีอยู่ทั่วไป การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดจึงไม่ใช่แค่คำพูดสวยๆแต่เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ คือถ้าเรายังอยู่ในวงจรชีวิตยังต้องใช้ชีวิตกันต่อไป การไม่เรียนรู้เพิ่มเติมต่อเนื่องจะทำให้เราตกยุคและหลุดวงโคจรจากทุกสิ่งได้เร็วมาก เรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ในยุคนี้”

“ในส่วนของ Tool ใหม่ๆในปัจจุบัน มักจะอยู่ในรูปของ Software, digital tools บน Computer หรือ smart device ต่างๆเป็นหลัก ในแวดวงการออกแบบก็มักจะยังพูดกันถึงเรื่องการใช้เครื่องมือว่าสเกตบนกระดาษยังดีกว่าการคิดใน computer หลายครั้งก็มีการ debate กันเบาๆในบางวงสนทนา ซึ่งในการทำงานจริงๆ ผมคิดว่าเราต้องสามารถใช้ tools ทุกอย่างที่มีได้อย่างครบถ้วนที่สุด คือใช้ไม่เป็นไม่ได้ และเราแค่ต้องเลือกใช้แต่ละอุปกรณ์ตาม task งานให้เหมาะสม บางส่วนเช่นขั้นตอนแบบร่างขั้นต้นมากๆก็ยังอาจพอใช้มือสเกตได้ แต่หลายส่วนเช่นการวางผัง การวาง space design สำหรับทีมเราการคิดแบบบน CAD หรือ BIM ในขั้นตอนแบบร่างเลยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำและประหยัดเวลาได้มากกว่าอย่างมาก ซึ่งผมคิดว่าทักษะในเรื่องของการใช้เครื่องมือโดยเฉพาะ Digital Tools เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำได้และต้องมีความชำนาญมากพอจนสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้เหมือนที่เราวาดด้วยดินสอหรือเขียนด้วยปากกาให้ได้เท่านั้นเอง” คุณปอยทิ้งท้าย