BIMobject_knowing-digital-construction-Cover

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นในทศวรรษที่ผ่านมาได้มีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการก่อสร้าง ตั้งแต่สนามฟุตบอลจนถึงตึกสูงระฟ้า ที่ปัจจุบันมีการเขียนแบบ 3 มิติ การคำนวณผ่านโปรแกรม และตรวจสอบผ่านฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดถูกเรียกรวมๆ กันว่า Digital Construction

ก้าวสู่อนาคตของการก่อสร้างกับ Digital Construction

Digital Construction เป็นกระบวนการผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการก่อสร้างและการจัดการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ มีคุณภาพ รวดเร็ว และใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณภาพมากที่สุด

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Digital Construction

  • Building Information Modeling (BIM) การสร้างโมเดลเสมือนของสิ่งก่อสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ในฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการทำงาน สามารถดึงข้อมูลดังกล่าวไปใช้ได้อย่างอิสระ รวมถึงสามารถแก้ไข ตกแต่ง ดัดแปลงเพื่อต่อยอดการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    ทาง Autodesk ผู้ให้บริการโปรแกรม 3D Model เจ้าใหญ่ระบุว่าการใช้ BIM จะช่วยลดเวลาที่ใช้ในขั้นตอนการก่อสร้างถึง 30% และลดปริมาณแรงงานในไซต์ถึง 25% และในปัจจุบันมีการใช้ระบบ BIM ในบ้านเรามากขึ้น โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เจ้าใหญ่อย่าง Ananda ที่นำไปช่วยในการก่อสร้างโครงการตนเอง และ CP ALL ที่จับมือกับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนาหลักสูตร BIM แล้ว

BIM-knowing-digital-construction-01

  • Cloud Computing การเก็บข้อมูลและการประมวลผลในระบบ Cloud ได้กลายเป็นพื้นฐานการใช้งาน Digital Construction ไปแล้ว โดยเฉพาะการเก็บและแชร์งานเพื่อให้คนอื่นๆ สามารถนำโมเดลหรือรูปแบบการดีไซน์ไปใช้ต่อได้
    ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือการประมวลผล อย่างการใช้งาน Cloud Rendering ที่เป็นการเพิ่มพลังการประมวลผลสำหรับการสร้างภาพขั้นสุดท้าย (Render) ของ 3D Model ที่สามารถย่นระยะเวลา Render งานได้อย่างมากมาย บางงานที่ใช้เวลาหลายวันก็อาจจบในไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ ช่วยลดทั้งเวลาและต้นทุนเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันซอฟต์แวร์หลายตัวต่างรองรับระบบ Cloud Rendering แล้ว ยกตัวอย่างเช่น Autodesk Revit เป็นต้น
  • Robotic งานก่อสร้างในปัจจุบันมีการใช้งานหุ่นยนต์เข้ามาช่วย ทั้งการก่อสร้างส่วนประกอบขนาดเล็ก และการสร้างบ้านด้วยหุ่นขนาดใหญ่ โดยการใช้หุ่นยนต์นี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์ผูกลวดเหล็กสำหรับงานสร้างฐานสิ่งก่อสร้าง และหุ่นยนต์เรียงอิฐเพื่อปูพื้นทางเดิน
    ปัจจุบันยังมีการทดลองเกี่ยวกับหุ่นยนต์อื่นๆ อีก เช่นหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่ใหญ่ขึ้น หุ่นยนต์ปูอิฐ เรียงบล็อก เจาะช่องประตูและหน้าต่าง จนถึง หุ่นยนต์ที่มีกล้องสำหรับตรวจสอบความเรียบร้อยของการก่อสร้าง ซึ่งอาจนำมาใช้งานจริงได้ในอนาคต

BIM-knowing-digital-construction-02

  • Automation ระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งที่ทำงานคู่กับหุ่นยนต์เป็นส่วนใหญ่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบภายใน ให้เหล่าหุ่น เครื่องจักร หรือกระทั่งคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการดีไซน์สามารถทำงานของมันได้ด้วยตนเอง
    การทำงานของ Automation มีบทบาทตั้งแต่การสร้างและตกแต่งอุปกรณ์สำหรับก่อสร้างภายในโรงงาน จนถึงการประยุกต์ใช้เข้ากับหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ ให้สามารถสร้างบ้าน หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ได้โดยการทำการป้อนแบบแปลนเข้าไปเท่านั้น มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเข้าควบคุมหุ่นยนต์ และปล่อยให้ระบบ Automation ทำงานไปจนเสร็จ
  • IoT ระบบ Internet of Things หรือ IoT เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ Digital Construction ที่มีบทบาทเยอะที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเราสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรดั้งเดิมให้เป็นระบบ IoT ได้ หรือใช้อุปกรณ์ใหม่ ที่รองรับ IoT ไปเลย ทำให้เทคโนโลยีนี้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายมาก
    อุปกรณ์ IoT มีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามจุดประสงค์ ซึ่งทำได้ตั้งแต่การติดตั้ง IoT เพื่อ Track สินค้าและอุปกรณ์การก่อสร้าง ติดตั้งเป็นเซนเซอร์เพื่อเตือนว่าพนักงานกำลังเข้าสู่พื้นที่เสี่ยงในการก่อสร้าง อาจเกิดอันตรายได้ ไปจนถึงการเก็บสถิติการทำงานของเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างทุกตัวว่าสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่

BIM-knowing-digital-construction-03

บทบาทของ Digital Construction ในภาคส่วนต่างๆ

หากเป็นคนที่คลุกคลีกับการก่อสร้าง เขียนแบบ หรือวิศวกรรมอยู่แล้วล่ะก็ ย่อมรู้ดีว่าการก่อสร้างไม่ได้มีแค่การผสมปูน วางเหล็ก แต่ยังมีการคำนวณเบื้องหลังที่มากมาย การวางแผนทั้งระยะสั้นระดับ 3-5วัน จนถึงระยะยาวหลายปี ดังนั้นการประยุกต์ใช้ Digital Construction จึงครอบคลุมทุกภาคส่วน ดังนี้

  • การออกแบบ
  • การวางแผน
  • การก่อสร้าง
  • การตรวจสอบคุณภาพ
  • การจัดสรรงบประมาณ

โดยบทบาทของการประยุกต์ใช้ระบบ Digital จะแตกต่างกันออกไปตามโปรเจ็ค เช่น การออกแบบและแชร์ข้อมูลด้วย BIM การตรวจสอบคุณภาพด้วย Robotic & Automation จนถึงการจัดสรรงบประมาณด้วยโปรแกรมเฉพาะต่างๆ ที่จะทำให้งานง่ายขึ้น ไวขึ้น และลดต้นทุนได้มากขึ้น

การพัฒนา Digital Construction ภายในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการพัฒนากระบวนการ Digital Construction มากมาย โดยเฉพาะองค์กรเอกชนต่างๆ ที่ผนึกกำลังกันพัฒนารูปแบบการก่อสร้างภายในประเทศให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวดเร็วขึ้น โดยหวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการก่อสร้างที่สูงขึ้นทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐบาล

เอกชนไทยให้ความสนใจกับ Digital Contruction มาก โดยเฉพาะเทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) ที่เป็นการใช้ฐานข้อมูลร่วมกันในการก่อสร้างอาคาร มีแบรนด์ใหญ่ๆ มากมายใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อนันดาดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ เซเว่น อีเลฟเว่น ของทางซีพีออล์ เนื่องจากทำให้ประสิทธิภาพการก่อสร้างอาคารทั้งหมดสูงขึ้น พร้อมกับลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทางสภาวิศวกรและองค์กรที่เกี่ยวข้องเองก็มีการยื่นข้อเสนอการประยุกต์ใช้ Digital Contruction ไปยังภาครัฐเพื่อนำลงแผนพัฒนา Thailand 4.0 อีกด้วย

สถาปนิกและวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐเองก็มีความสนใจในด้านนี้ไม่ต่างกัน เนื่องจากเป็นการประยุกต์ใช้ศาสตร์ดิจิทัลเข้าร่วมกับการก่อสร้างและการทำงานอื่นๆ ตรงกับแนวทางการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ทำงานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์รายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Digital Construction ได้ง่ายขึ้น

BIM Standard ก้าวสำคัญของ Digital Construction

ภายใต้ความสนใจมากมายที่จะใช้งานเทคโนโลยีนี้ ย่อมหมายถึงการสร้างมาตรฐานการก่อสร้างด้วย Digital Construction หลากหลายรูปแบบ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก จึงได้จับมือกับสมาคมและเครือข่ายอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อสร้างสรรค์ BIM Standard หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญสำหรับ Digital Construction เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานการใช้ BIM ภายในประเทศไทย โดยมีการวิจัยและพัฒนามากกว่า 2 ปีผ่านความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศฝั่งยุโรป

คุณวิจิตร ศิลาวิเศษฤทธิ์ จากสภาสถาปนิก ได้ระบุว่า BIM เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ได้มีบทบาทแค่ซอฟท์แวร์ แต่เป็นกระบวนการดูแลตั้งแต่เริ่มต้นอาคารจนจบวงจรชีวิตของอาคาร (Life Cycle) ครอบคลุมตั้งแต่การวางโจทย์ ออกแบบ สเป็ค ขนาด วัสดุที่ใช้ ส่งผลดีกับทุกฝ่ายเนื่องจากทำให้ทำงานได้ร่วมกันในโมเดลเดียวกัน บริหารต้นทุนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สอดคล้องกับทาง ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม กรรมการของทาง วสท. ที่กล่าวว่าอุตสาหกรรมการออกแบบและการก่อสร้างจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู้อุตสาหกรรมการก่อสร้างดิจิทัล (Digital Construction) เพื่อเป็นการบูรณาการงานทุกภาคส่วนในการก่อสร้างบนโมเดลเดียวกับ สร้างความก้าวหน้าท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น ประหยัดเวลา พลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความโปร่งใสอีกด้วย

สรุป

Digital Construction เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่เข้าร่วมกับการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนจนถึงขั้นตอนการปฏิบัติ โดยมีการประยุกต์ใช้โปรแกรมและแพลตฟอร์มต่างๆ เข้าร่วมมากมาย

โดยเฉพาะเทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) ที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต่างสนับสนุนและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะ Digital Construction ที่สำคัญและสามารถใช้งานร่วมกันได้ทุกฝ่าย ทั้งสถาปนิก วิศวกร จนถึงฝ่ายบริหาร ด้วยการใช้งาน 3D Model ต่างๆ ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เพิ่มเติม

BIMobject เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนี้ โดยมีดิจิทัลไฟล์ของวัสดุด่อสร้างและสินค้าตกแต่ง ที่มีข้อมูลครบถ้วนถูกต้องเพื่อนำไปใช้งานต่อได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการนำเทคโนโลยี BIM ไปใช้ โดยเป็นแหล่งรวบรวมโมเดลแบรนด์ไทยมากกว่า 2,000 แบรนด์ พร้อมให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ BIMobject Thailand